ผลประชุม ก.พ.อ.

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุม ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้


นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุม ก.พ.อ.
โดยมีศาสตราจารย์พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมประชุม




  • การทบทวนขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่


รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการที่ ก.พ.อ.ได้มีการศึกษาเรื่อง สภาพปัญหาและข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการพิจารณาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ พบว่าสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่จำนวน 52 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะอีก 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยนครพนม และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ประสบปัญหาในด้านความไม่เพียงพอด้านบุคลากรและวัสดุครุภัณฑ์ งบประมาณ คุณภาพบัณฑิตที่จบจากสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ จึงได้ทำเรื่องขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งต่อมาทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องกลับมาให้ ศธ.พิจารณาแผนการดำเนินการที่ชัดเจน โดยให้รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการด้วย


คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการพิจารณาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ จึงได้นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มจำนวนบุคลากรสายวิชาการที่มีคุณวุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,022 คน เป็น 5,055 คนในเวลา 5 ปี และพัฒนาบุคลากรสายวิชาการให้มีตำแหน่งทางวิชาการเพิ่มขึ้น ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ จาก 3,781 คน เป็น 9,453 คน, รองศาสตราจารย์ จาก 502 คน เป็น 1,255 คน และศาสตราจารย์ จาก 11 คน เป็น 28 คน ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปกติจำนวนทั้งสิ้น 76,679 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี หรือโดยเฉลี่ยปีละ 15,335 ล้านบาท


ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ควรจะวางแผนพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาโดยรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะการกำหนดตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับการพัฒนาบุคลากร และความรู้ความสามารถของผู้เรียนในการใช้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และควรพิจารณาการจัดทำแผนงานการพัฒนาแต่ละมหาวิทยาลัยไม่ให้ทับซ้อน และให้นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาครั้งต่อไป







  • การเสนอขอปรับปรุงอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8


ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ ก.ค.ศ.ได้ปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งแม้จะเป็นบุคลากรสายผู้สอน แต่ใช้กฎหมายคนละฉบับกัน ก็ต้องการให้มีการปรับเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นกัน


ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า หากมีการแก้ไขเยียวยาโดยขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 19,696 คน จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการปรับเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัยสายผู้สอน/บุคลากรในส่วนราชการอื่นๆ หรือไม่ เพราะจะต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 2,332 ล้านบาท ในกรณีที่จ่ายย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง 30 กันยายน 2557 หรือจัดสรรเพิ่ม 700 ล้านบาท หากมีการปรับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 30 กันยายน 2557


จึงเห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอรัฐมนตรีพิจารณาว่า จะมีผลกระทบต่อหน่วยงานอื่นหรือไม่อย่างไร รวมทั้งในส่วนของ ศธ.ที่กำลังพิจารณาเรื่องนี้ในภาพรวมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ก็จะทำคู่ขนานกันไป







  • รายงานข้อมูลความเหลื่อมล้ำ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา


ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้รายงานข้อมูลความเหลื่อมล้ำ เพื่อขอความเป็นธรรมให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา คือ


– กรณีปัญหาของพนักงานมหาวิทยาลัย 8 ข้อ คือ สัญญาจ้าง การจ้างทดแทนข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย การขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สิทธิประโยชน์ การเลือกปฏิบัติ การรักษาพยาบาล การย้าย และสิทธิในการทำนิติกรรมต่างๆ


– กรณีปัญหาของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องการให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือน


– กรณีปัญหาของบุคลากรทางแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ที่ไม่สามารถบรรจุให้เป็นข้าราชการได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับบุคลากรทางการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข


ที่ประชุมเห็นว่า กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องมีการรับฟังความเห็นจากกรรมการ ก.พ.อ. สภาสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา สภาคณาจารย์ คณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้แล้วเสร็จ ก่อนรวมเรื่องนำเสนอต่อที่ประชุม ก.พ.อ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ส่วนข้อมูลความเหลื่อมล้ำอื่นๆ นั้น ก็จะมีการจัดกลุ่มให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม ก่อนนำเสนอ ก.พ.อ.พิจารณาต่อไป



รมว.ศธ.กล่าวฝากในที่ประชุมด้วยว่า ในขณะนี้มีเรื่องที่ข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร้องเรียนมาที่กระทรวงศึกษาธิการหลายเรื่อง เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ ก็ขอให้ช่วยเร่งพิจารณาดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องให้เกิดการชุมนุมเรียกร้อง


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
18/10/2556