ศึกษาธิการ –
@ รับทราบข้อมูลการประเมินผล “ปีการศึกษา 2556 ปีแห่งการเพิ่มคุณภาพการศึกษาเอกชน”
ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลประเมินผล จากการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ประกาศนโยบาย “ปีการศึกษา 2556 ปีแห่งการเพิ่มคุณภาพการศึกษาเอกชน” โดยร่วมกับโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ พัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นต่อโรงเรียนเอกชน พร้อมทั้งได้ประเมินผลตามตัวชี้วัดของนโยบายเมื่อสิ้นปีการศึกษา 2556 โดยจัดส่งแบบประเมินผลให้ สพป.เขต 1 และ สช.จังหวัด ประเมินผลแต่ละจังหวัด โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ
ข้อมูลการประเมินผลคุณภาพการสอนในวิชาต่างๆ
– ภาษาอังกฤษ อยู่ในระหว่างการประเมินผลภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม 2557
– ภาษาไทย นักเรียนเอกชนชั้น ป.3 ร้อยละ 98.22 มีคุณภาพการอ่านออกเสียงระดับดีและพอใช้
– คณิตศาสตร์ ค่าเฉลี่ยคะแนนการทดสอบ O-Net ป.6/ม.3/ม.6 ปีการศึกษา 2556 สูงกว่าค่าคะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศ โดยค่าเฉลี่ยผลสอบ ป.6/ม.3/ม.6 ทั่วประเทศ เป็น 41.95/25.45/20.48 ตามลำดับ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยผลสอบ สช.เป็น 49.03/25.72/20.9 ตามลำดับ ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกชั้นปี
@ เห็นชอบร่างกฎกระทรวง การขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการ และการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง และการกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ที่ประชุมเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสมควรปรับปรุงกฎกระทรวงเดิม ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2555 ให้เกิดความชัดเจน กรณีการใช้ที่ดินในการจัดตั้งโรงเรียน การขอขยายความจุสูงสุดของนักเรียนในโรงเรียนแต่ละประเภท และเพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้มีการแก้ไข/เพิ่มเติมจากประกาศฉบับเดิม ได้แก่
-
ให้ยกเลิกความในข้อ 16 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ข้อ 16 ที่ดินที่ใช้จัดตั้งโรงเรียนในระบบประเภทนานาติ ต้องมีขนาดที่ดิน ดังต่อไปนี้ (1) ระดับก่อนประถมศึกษา ต้องมีขนาดที่ดินไม่น้อยกว่า 1 ไร่ (2) ระดับประถมศึกษา
ต้องมีขนาดที่ดินไม่น้อยกว่า 2 ไร่ (3) ระดับมัธยมศึกษา ต้องมีขนาดที่ดินไม่น้อยกว่า 2 ไร่ ถ้าเปิดสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษา ต้องมีขนาดที่ดินไม่น้อยกว่า 5 ไร่” ให้ยกเลิกความในข้อ 25 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ข้อ 25 การคำนวณความจุสูงสุดของนักเรียนในโรงเรียนแต่ละประเภท มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) โรงเรียนในระบบประเภทสามัญ ให้คำนวณความจุนักเรียนห้าคน ต่อพื้นที่ 8 ตารางเมตร พื้นที่ที่ใช้ในการคำนวณความจุของนักเรียนทั้งโรงเรียนคำนวณจากขนาดที่ดินของโรงเรียน โดยความจุสูงสุดต้องไม่เกินห้าพันคน (2) โ รงเรียนในระบบประเภทอาชีวศึกษา ให้คำนวณความจุนักเรียนห้าคน ต่อพื้นที่ 8 ตารางเมตร พื้นที่ที่ใช้ในการคำนวณความจุของนักเรียนทั้งโรงเรียนคำนวณจากขนาดที่ดินของโรงเรียน โดยความจุสูงสุดของนักเรียนรอบเช้าและรอบบ่ายต้องไม่เกินรอบละห้าพันคน (3) โ รงเรียนในระบบประเภทนานาชาติ ให้คำนวณจากจำนวนห้องเรียนและระดับชั้นเรียนที่เปิดสอน การขอขยายความจุสูงสุดของนักเรียนตาม (1) เกินห้าพันคน หรือการขอขยายความจุของนักเรียนตาม (2) ในแต่ละรอบเกินห้าพันคน ให้เสนอเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเป็นผู้พิจารณาอนุญาต”
@ แนวทางการปรับเพิ่มเพดานค่าธรรมเนียมการศึกษาโรงเรียนเอกชน
จากการที่ สช.ได้ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการปรับเพดานค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเอกชนแล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตารา 32 บัญญัติว่า “การกำหนด ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนในระบบ ให้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการการศึกษา ค่าตอบแทนครูที่มีความรู้ และความสามารถที่ดี และค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการขยาย กิจการและผลตอบแทน ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศไว้ในที่เปิดเผยในโรงเรียนในระบบ และโรงเรียนในระบบ จะเรียกเก็บเงินอื่นใดจากผู้ปกครองหรือนักเรียนนอกจากที่กำหนด ตามวรรคหนึ่งไม่ได้”
นอกจากนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 ได้มีมติเห็นชอบให้โรงเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานในอัตราเท่ากับผลการคำนวณของ ศธ. (อัตราเท่ากับนักเรียนภาครัฐ) และสมทบเงินเดือนครูเฉลี่ยต่อหัวนักเรียน (คำนวณจากฐานเงินเดือนครูที่โรงเรียนเอกชนจ่ายให้ครู) โดยโรงเรียนเอกชนที่รับการอุดหนุนสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เรียนได้ไม่เกินอัตราค่าใช้จ่ายต่อหัวภาครัฐ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กำหนด ดังนั้น สช. จึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการปรับเพิ่มเพดานค่าธรรมเนียม
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบแนวทางการใช้อัตราค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับการอุดหนุนโรงเรียนเอกชนตามที่ สกศ. รวบรวม/สังเคราะห์จากผลการวิจัย ซึ่งเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 และปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อถึงปี 2557 โดยเมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนให้ความเห็นชอบ สช. สามารถประกาศให้โรงเรียนกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมการศึกษาตามตารางต่อไป สำหรับโรงเรียนเอกชนการกุศลซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2539 กำหนดให้การอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนในอัตราร้อยละ 100 ของค่าใช้จ่ายรายบุคคลนักเรียนภาครัฐ จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 1,517.47 ล้านบาท (นักเรียน 398,486 คน)
@ เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบเพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาสำหรับโรงเรียนในระบบ
ที่ประชุมเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะอนุกรรมการกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาสำหรับโรงเรียนในระบบ จำนวน 5 ท่าน จากกรรมการทั้งสิ้น 15 ท่าน ซึ่งมีเลขาธิการ กช.เป็นประธานอนุกรรมการ คือ
1. นายปฐมพงศ์ ศุภเลิศ ครูโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จ.พระนครศรีอยุธยา
2. นายประพันธ์ ทรรศนียากร ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา จ.เชียงราย
3. นายนิวัฒน์ มั่นศิลป์
4. นางภัทรา ศิริชัย ข้าราชการบำนาญ สช.
5. นายสุดใจ จิระสมประเสริฐ ข้าราชการบำนาญ สช.
@ เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อประโยชน์ในการ สงเคราะห์สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้
1. นายสุชล เส็นบัตร ผู้รับใบอนุญาต รร.ศาสนวิทยามูลนิธิ จ.พัทลุง
2. นายอุเส็น ดาโหะ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาสมาคม รร.เอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. นางสุจิตรา ดารามิตร ข้าราชการบำนาญ สช.
4. นายอาทร ทองสวัสดิ์ ข้าราชการบำนาญ สช.
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบ กช.ว่าด้วยการวางระบบและจัดทำบัญชีการเงินและบัญชีอื่นของโรงเรียนในระบบ พ.ศ. …. และเห็นชอบการขอยกเว้นการดำเนินการจัดทำตราสารจัดตั้งและรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนในระบบ จำนวน 22 โรง
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
18/4/2557