ผลการประชุมองค์กรหลัก 4/2557
ศึกษาธิการ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2557 ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา โดยมีประเด็นสำคัญ สรุปดังนี้
การดำเนินงานเพิ่มและขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพของ กศน.
– จัดการศึกษาให้ประชาชนรู้หนังสือ โดยมีเป้าหมายประชาชนอายุ 15-59 ปี รู้หนังสือไทยทุกคน เพราะในปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้ไม่รู้หนังสือถึงร้อยละ 4.5 จึงขอให้สำนักงาน กศน.หารือการทำงานในเรื่องนี้ร่วมกับ สพฐ. ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมขอให้สำนักงาน กศน.รวบรวมประเด็นสำคัญที่ยังค้างอยู่ ทั้งจากคณะกรรมการ กศน. และเรื่องที่เสนอเข้า ครม.ไปแล้ว แต่ติดขัดเมื่อยุบสภา เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาแก่ผู้เรียน กศน.ทั้ง 1,350,000 คนได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งฝากให้พิจารณาเส้นทางความก้าวหน้าและการศึกษาต่อของครูช่วยสอนและครูอัตราจ้าง กศน. เช่น การเพิ่มเงินรายได้ตามนโยบายของรัฐ การให้โอกาสไปศึกษาต่อ เป็นต้น
การพัฒนาวิชาชีพตามข้อบังคับคุรุสภา พ.ศ.2556
รองเลขาธิการคุรุสภา ได้
– มาตรา 11-13 มาตรฐานการปฏิบัติงาน ของผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ รวม 12 ข้อ
-มาตรา 14 มาตรฐานการปฏิบัติตน โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติตนตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ.2556 ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจะต้องมีจรรยาบรรณ 5 ด้าน คือ จรรยาบรรณต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ ต่อผู้รับบริการ ต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และต่อสังคม
– การสอบใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจะต้องพิจารณาหาแนวทางการประเมินตามมาตรฐานความรู้ที่ชัดเจน ให้สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ครู
– การต่ออายุใบประกอบวิชาชีพครู ภายใน 3 ปีนี้จะมีหลักเกณฑ์ในการประเมินอย่างไร เพื่อให้ตรงกับปัญหาความต้องการ ในแง่ความขาดแคลนครู ทั้งยังสอดคล้องกับทักษะด้านต่างๆ ในการจัดระบบการเรียนการสอนของครูผู้สอน ผู้บริหาร หรือศึกษานิเทศก์ด้วย
– การแก้ปัญหาครูในสาขาที่ขาดแคลน เนื่องจากกติกาในปัจจุบันไม่ยืดหยุ่นหรือเปิดช่องให้ผู้ที่เก่งในสาขาวิชาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการได้เข้ามาเป็นครู เพราะหลายหน่วยงานแม้จะมีความต้องการมาก แต่ก็ไม่สามารถใช้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามาเป็นครูได้ง่าย จึงฝากให้องค์กรหลักรวบรวมประเด็นปัญหาเหล่านี้ให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู และที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ให้รับทราบปัญหา เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
รายงานสถานการณ์และแนวทางการทำงานในช่วงวิกฤตและการบริหารงานตามนโยบายเร่งด่วน
รมว.ศธ.กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษานั้น ข้อมูลเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2557 พบว่าสถานศึกษาทุกสังกัดในกรุงเทพฯ เปิดเรียนตามปกติแล้ว แต่ในภาคใต้พบว่ามีหน่วยงานและสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบ (ทีไม่นับหน่วยงานระดับกระทรวง) คือ สำนักงานศึกษาธิการภาค 2 แห่ง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 14 แห่ง สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด 3 แห่ง สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง 24 แห่ง มีจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ 11,885 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 565 คน
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ที่ได้รับผลกระทบ 777 แห่ง
ในส่วนของความเสียหายนั้น ได้มีการให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีความเสียหายอย่างไรบ้าง โดยความเสียหายที่มีการตรวจสอบชัดเจน คือ กรณีที่ผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ปิดล้อมโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค. และบุกเข้าไปทำลายทรัพย์สิน มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 141,830,000 บาท นอกจากนี้ทำให้หอพัก สกสค. ต้องหยุดทำการ 15 วัน
ทั้งนี้ ศธ.กำลังดำเนินการสำรวจเรื่องการขาดเรียนสะสม เพื่อจะหาทางแก้เรื่องการสอนชดเชย และหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาอีก และหากมีการปิดสถานศึกษาอีก ก็จะต้องดูแลเรื่องผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะเรื่องการขาดเรียนและกรณีใกล้สอบของนักเรียนที่จะต้องรีบแก้ไข ทั้งยังกำชับให้สถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท หากมีปัญหาถูกคุกคาม ทำให้เปิดไม่ได้ ได้ขอให้รายงานมาอย่างชัดเจนในรายละเอียดว่าประสบปัญหาอย่างไร และต้องการให้ทางราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ได้ขอให้ปลัด ศธ.รวบรวมข้อมูล เพื่อแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบ เพื่อหาทางดูแลเรื่องการคุกคามหรือข่มขู่กดดัน จนกระทั่งทำให้นักเรียนต้องขาดเรียน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทบต่ออนาคตของเด็ก เยาวชน นักเรียนนักศึกษา รวมทั้งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ทำให้เสียโอกาสต่อผู้เรียนและผู้ที่กำลังเตรียมสอบ เพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
27/1/2557