ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยใต้ร่มพระบารมี” ให้กับผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” หลักสูตรที่ 1 รุ่นที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2560 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2560 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี เขตหนองจอก
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าว
สำหรับกรอบแนวทางการดำเนินงาน 5 ประการของโรงเรียนคุณธรรม ประกอบด้วย
1) ความพอเพียง ได้แก่การดำรงชีวิตที่พอเพียงตามพระราชดำรัสคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 กล่าวคือ ทุกอย่างต้องพอประมาณ มีความประหยัดเป็นสำคัญ ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ฝึกตนเองให้รู้จักความพอดี เพราะหากไม่รู้จักพอจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้
2) ความรู้รักสามัคคี ความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเชื่อมโยงกับครูอาจารย์ในการสั่งสอนลูก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูเพียงอย่างเดียว เพราะพ่อแม่เป็นแบบอย่างอันดับแรกของลูก
3) ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในความถูกต้อง
4) ความรับผิดชอบ คนที่มีความรับผิดชอบสูง และทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ จะส่งผลถึงความประสบสำเร็จในชีวิต
5) ความยุติธรรม มีจิตสำนึก ทัศนคติ พฤติกรรมที่เปี่ยมด้วยจริยธรรมจรรยา อาทิ หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยต้องยึดหลักความยุติธรรม ดังเช่นสุภาษิตไทยที่ว่า “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก” กล่าวคือ หากหัวดำรงความเที่ยงธรรม ถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต มีหรือที่หางหรือลูกแถวจะออกนอกแถวนอกกรอบ แต่ถ้าหัวส่ายจะไปหวังอะไรกับลูกแถว
ในส่วนของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
1) ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกเรื่องที่ไม่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
2) ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
3) ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ และแข่งขันกัน เช่น การแข่งขันกันทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
4) ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
5) ปฏิบัติตนในแนวทางที่เป็นคุณงามความดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
จะเห็นได้ว่าหลักทั้ง 5 ประการ ที่ทรงมีแนวพระราชดำรินั้น มีความสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ปรากฏในพระคัมภีร์อัลกุรอานพอสังเขป อาทิ การประหยัดคือ ใช้จ่ายแต่พอควรแก่ฐานะ ไม่สุรุ่ยสุร่ายฟุ้งเฟ้อ รู้จักตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ในขณะเดียวกันการประหยัดจะต้องไม่นำไปสู่ความเห็นแก่ตัว และความตระหนี่ถี่เหนียว อันหมายถึงการปฏิเสธจากการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในสิ่งที่เป็นภารกิจจำเป็น เช่น การอุปการะเลี้ยงดูภรรยา และครอบครัว ตลอดจนการบริจาคทาน เสียสละเพื่อคนที่ขัดสน และยากจน รวมถึงการช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ
ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า เมืองไทยดำรงอยู่มาได้หลายชั่วชีวิตคน ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ค่านิยมทางสังคม หรือแม้แต่ชาติพันธุ์ แต่ทุกคนต่างสำนึกในความเป็นพสกนิกรชาวไทยใต้ร่มพระบารมีเดียวกัน มีความเข้มแข็งในเรื่องความสามัคคีปรองดอง ไม่เคยแบ่งแยกหรือแตกแยก ไม่คดโกง ล้วนยึดมั่นคำสอนของบุพการีชนมาโดยตลอดว่า เราจะเกิดภาคไหน ๆ ก็ไทยด้วยกัน เราคนไทยรักกันมาก มีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ที่ขวางกั้นการก้าวเดินที่เรียกว่าพัฒนาการของประเทศ ที่เราคนไทยทุกเชื้อชาติ ทุกวัฒนธรรม และทุกศาสนา ต้องร่วมกันแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว เสริมสร้างความรู้รักสามัคคี ความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา สืบสานพระราชปณิธาน เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร รัชกาลที่ 10 สืบไป
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก สนง.รมช.ศธ.
20/4/2560