ปั้นลูกให้เป็น “กุลสตรีไทย” ใครว่าตกยุค

       ภาพของหญิงไทยในยุคเก่าก่อน หลายคนคงนึกออก ถึงภาพความอ่อนช้อยสมเป็นกุลสตรีไทย ทั้งกิริยามารยาท งานบ้านงานเรือน รวมไปถึงการรักนวลสงวนตัว แต่บัดนี้ ภาพความงามในแบบไทยเหล่านั้น ได้ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะถือเป็นเรื่องล้าสมัย เชย และตกกระแสไปแล้ว ซึ่งจริงอยู่ที่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไป แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บางเรื่องยังจำเป็นต้องสอนกันอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านไปกี่ยุคสมัยแล้วก็ตาม เช่น มารยาทการวางตัวกับผู้ใหญ่ สังคมและเพศตรงข้าม
       
       ใครบางคนอาจจะบอกว่า “การเลี้ยงลูกให้เป็นกุลสตรีไทย” เป็นเรื่องที่พ้นยุคสมัยไปแล้ว แต่ “วรวรรณา จิลลานนท์” หรือ “พี่น้อย” ผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลิกภาพ จากสถาบัน John Robert Powers บอกว่า ถึงโลกจะมันพัฒนาไปไกลถึงดาวอังคารแล้ว ความงามอย่างไทยจะไม่มีวันตาย และยังคงใช้ได้ดีในทุกยุคสมัย
       
       “การสร้างความงดงามควรเริ่มจากที่บ้าน พูดตรงๆ ว่า สมัยนี้มีให้เห็นน้อยมาก และก็ไม่รู้จักการสร้างความงามที่ถูกต้องลองนึกภาพตาม ถ้าเด็กรุ่นใหม่นำกิริยามารยาทงามแบบหญิงไทยโบราณมาปฏิบัติ เด็กคนนั้นจะมีความงามที่เปล่งประกายออกมาจากตัว และสามารถดึงดูดสายตาคนรอบข้างได้อย่างดี”
       
       คำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลิกภาพชั้นน้ำ ถึงแม้จะสวนทางกับยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นยุคอินเทรนด์ แต่เธอเชื่อว่า บางเรื่องยังจำเป็นต่อเด็กทุกยุคสมัยอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจึงได้แนะเคล็ดลับ 3 สิ่งที่เด็กไทยทั้งหญิง และชายต้องมี คือ งามที่กาย วาจา ใจ เริ่มต้นที่ความงามภายนอก พ่อแม่ต้องสอนลูกรู้จักการแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ เหมาะสมกับสถานที่ เวลาไปเรียนหนังสือ จะแต่งตัวให้คนมองว่าเป็นนักเรียน-นักศึกษา
       
       “พ่อแม่ หรือโรงเรียน ควรให้เด็กศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต การดูแบบอย่างจากผู้ใหญ่บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ผิด เช่น การแต่งตัวของนักแสดงในละคร กิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมของพิธีกรรายการโทรทัศน์ ฉะนั้นถ้าเด็กจดจำจากสิ่งเหล่านี้ และปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากเขาคิดว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่กระทำเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว”


        ผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลิกภาพรายนี้ยังกล่าวในประเด็นของการสอนลูกเรื่องการพูดว่า “สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล” ยังเป็นสุภาษิตที่ใช้ได้ดี ดังนั้น ที่บ้านควรพูดเป็นภาษาดอกไม้ ให้ลูกเคยชินกับการพูดที่มีหางเสียง เช่น ครับ/ค่ะ ลงท้ายทุกครั้ง และ 5 คำ ที่ต้องฝึกให้ลูกพูดจนเป็นนิสัย คือ
       
       สวัสดีครับ/ค่ะ ขอโทษครับ/ค่ะ ไม่เป็นไรครับ/ค่ะ สบายดีไหมครับ/ค่ะ และ มีอะไรให้ช่วยไหมครับ/ค่ะ ซึ่ง 5 คำนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลิกภาพท่านนี้บอกว่า ได้เริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทยแล้ว โดยเฉพาะการใช้ภาษาของเด็กรุ่นใหม่ที่ผันเปลี่ยนให้สั้นกระชับขึ้น เช่น จากคำว่า สวัสดี ถูกใช้เป็น “หวัดดี” แทน
       
       “ส่วนความงามที่ออกมาจากข้างใน เป็นเรื่องของ “จิตใจ” ที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกมีจิตใจงดงาม มีน้ำใจ ช่วยเหลือคนอื่น อย่าเห็นแก่ตัว ซึ่งเรื่องหลังพบมากในสังคมไทย ดังนั้นสิ่งแวดล้อมสำคัญกับเด็ก อย่าให้กลืนกินนิสัยที่ดีงามนี้ไปหมด ทางที่ดีควรเริ่มสอนลูกตั้งแต่เล็กๆ ถ้าคิดจะเริ่มกันตอนที่เด็กกำลังโต บางครั้งเป็นเรื่องยาก และอาจสายเกินไป เนื่องจากเด็กที่กำลังก้าวสู่วัยรุ่น จะมีความมั่นใจ และมีความเป็นตัวเองสูง”
       
       ทั้งนี้ วรวรรณาอธิบายต่อไปอีกว่า “งามอย่างไทย” ไม่ใช่แค่ผู้หญิง ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ผู้ชายที่นั่งพับเพียบ กิริยามารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน เราก็รู้สึกอมยิ้มได้ แม้แต่เด็กผู้ชายที่เดินจูงคนแก่ข้ามถนน หรือเดินจูงมือคุณแม่ซื้อของตามศูนย์การค้า ใครเห็นคงจะปลื้มอกปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก”
       
       นอกจากนี้ยังรวมไปถึงมารยาททางสังคม เป็นเรื่องง่ายๆ ที่พ่อแม่สอนให้ลูกได้ เช่น การรับประทานอาหาร ควรสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารให้กับลูก เช่น การเคี้ยวข้าวต้องไม่เสียงดัง ตักแต่พอคำ นั่งรับประทานบนโต๊ะอาหาร ไม่ใช่ปล่อยลูกให้นั่งรับประทานหน้าโทรทัศน์ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์
       
       พฤติกรรมเหล่านี้ แม้จะไม่ได้เกิดในครอบครัวผู้ดี แต่ก็ควรจะสอนไว้บ้าง การส่งลูกไปเรียนตามสถาบันเสริมสร้างบุคลิกภาพ ใช่ว่าจะได้ผลดีเสมอไป แต่ครูในบ้านอย่างพ่อแม่ควรสอนจะดีกว่า การให้ความสำคัญกับเพียงแค่นี้ เชื่อว่าคุณจะมีลูกที่น่ารักจนใครหลายคนต้องอิจฉาอย่างแน่นอน และอย่าคิดว่าการงามอย่างไทยเป็นเรื่องของคนหัวโบราณ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์