ปลาบึกแม่โจ้ หนีโขงสู่บ่อดิน

เมื่อเอ่ยถึงปลาบึก ทุกคนจะทราบกันดีว่าเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง มีการค้นพบหลักฐานสำคัญคือ    ภาพเขียนสีโบราณที่แสดงถึงพิธีกรรมความเชื่อและวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุค  3,000  ปีก่อนประวัติศาสตร์  ที่ตำบลผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปลาบึกนอกจากเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังมีความเชื่อว่าผู้ใดได้บริโภคเนื้อปลาบึกแล้ว  จะประสบโชคดี  เป็นผู้มีบุญ อายุยืนยาว สติปัญญาเฉียบแหลมเปรียบประดุจขงเบ้ง จึงเรียกปลาบึกว่า “ปลาขงเบ้ง”
          การเลี้ยงปลาบึกในบ่อดิน  สามารถเจริญเติบโตได้ปีละ 5-10 กิโลกรัม ให้ผลตอบแทนจากการเลี้ยงประมาณ  51,000  บาทต่อปี เนื้อปลาบึกมีรสชาติดี มีคุณค่าทางอาหาร เนื้อแน่นเป็นแว่นๆ คล้ายกับวงปีของเนื้อไม้ มีมันแทรกรสหวานมัน เนื้อหนังหนาคล้ายหมูป่า
          อาจารย์เกรียงศักดิ์  เม่งอำพันธ์  คณบดีคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บุคคลที่ประสบผลสำเร็จในการเพาะผสมเทียมปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อดิน รุ่นที่ 2 ได้เป็นรายแรกของโลก ทำให้สามารถจดทะเบียนสายพันธุ์ปลาเลี้ยงได้ และขึ้นทะเบียนเป็นปลาเลี้ยงเพื่อการส่งออกได้ด้วย  ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในประเทศไทย ทั้งในเชิงอนุรักษ์และในเชิงเศรษฐกิจของประเทศด้วย จึงตั้งชื่อพันธุ์ปลานี้ว่า ปลาบึกแม่โจ้ 75 ปี เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ก่อตั้งมาครบ 75 ปี
          ปี  2535  ได้นำปลาบึกจากแม่น้ำโขงมาเลี้ยง จำนวน 40 ตัวเลี้ยงจนถึงอายุประมาณ 10 ปี ในปี 2545 ผสมเทียมปลาบึกได้ลูกชั่วที่ 1 จำนวน 100 ตัว ในปี 2547 ผสมเทียมได้ 2,000 ตัว ในปี 2548 ได้ลูกปลาบึก 1,000 ตัว และในปี 2549 ผสมเทียมได้ลูกปลาบึกอีก  1,000 ตัว จากนั้นได้นำปลาบึกของปี 2545 ที่มีอายุ 5 ปี นำมาผสมเทียมเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ทำให้ได้ลูกปลาบึกชั่วที่ 2 จำนวน 300 ตัว ขณะนี้ได้เลี้ยงไว้ในบ่อดินของคณะฯ พร้อมตั้งชื่อลูกผสมเทียมชั่วที่ 2 นี้ว่า ปลาบึกแม่โจ้ 75
          นายเสน่ห์  สุดจำนงค์ นักวิชาการประจำฟาร์มเอ็นเอสเนเจอรัลฟาร์มมิ่ง อำเภอพาน  จังหวัดเชียงราย เปิดเผยพื้นที่ทั้งหมด 100 กว่าไร่ มีแผนผังฟาร์มโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น  บ่อเลี้ยงที่ 1 ขนาด 13.5 ไร่ เลี้ยงปลาบึก 9,500 ตัว บ่อที่ 2 ขนาด 14.5 ไร่ ปล่อยปลา 11,300 ตัว บ่อที่ 3 ขนาด 1.6 ไร่ ปล่อยปลาบึก 1,300 ตัว บ่อที่ 4 ขนาด 1.6  ไร่ ปล่อยปลาบึก 1,300 ตัว มีบ่อพ่อแม่พันธุ์ ขนาด 2.14 ไร่ มีพ่อแม่พันธุ์ 50 ตัว แต่ละบ่อจะลึกเฉลี่ยประมาณ  4-4.5 เมตร มีบ่ออนุบาลขนาดเล็ก 10 บ่อ พื้นที่ที่เหลือใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อผลิตวัตถุดิบการทำอาหารผสมเองและเป็นพื้นที่อาคาร บ้านพัก
          การเลี้ยงปลาบึกในอดีตนั้น  จะต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน  4-5 ปี แต่ขณะนี้การเลี้ยงปลาบึกในบ่อดิน ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 1 ปีกว่าเท่านั้น มีข้อควรคำนึงคือต้องใช้ปลาบึกสายพันธุ์แท้ จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าพันธุ์ลูกผสม การจัดการแหล่งน้ำให้มีคุณภาพ ต้องมีบ่อพักน้ำ มีค่าความเป็นกรด-ด่างประมาณ  6.5-7.5  จัดระบบการหมุนเวียนของน้ำ  ลดต้นทุนการผลิตด้วยการผสมอาหารใช้เองตามความต้องการและอายุของปลา  โดยใช้วัตถุดิบ  ได้แก่ ปลายข้าว ปลาป่น รำละเอียด กากถั่วเหลือง และวิตามิน
          เสน่ห์  สุดจำนงค์  แนะนำการสังเกตปลาบึกว่า หัวของปลาบึกจะมนกลม ไม่มีฟัน เนื่องจากเป็นปลาน้ำจึดที่กินพืชเป็นอาหาร เมื่อตกใจจะ
ร้องเสียงเหมือนหมู มีหนวดสั้นๆ 4 เส้น  ตัวผู้จะเพรียว ตัวเมียจะอ้วน คุณภาพเนื้อดี สีนวลออกเหลือง เมื่อเปรียบเทียบการเลี้ยงปลาบึก ปลาสวาย และปลาบิ๊กหวาย เลี้ยงในฟาร์มเมื่ออายุระหว่าง 2-5 ปี ปลาบึกจะมีน้ำหนักมากที่สุด  8 กิโลกรัม ปลาบิ๊กหวาย 3.5 กิโลกรัม ปลาสวาย 2 กิโลกรัม ในด้านเนื้อปลา ปลาบึกมีเนื้อ 52-53 % บิ๊กหวาย 49 % ปลาสวาย 47 % ด้วยความแตกต่างนี้เอง  จึงไม่ควรเลี้ยงปลาบึกร่วมกับปลาอื่นๆ  เพราะปลาอื่นๆ  ใช้เวลาจับขายเพียง 6 เดือน ทำให้ปลาบึกถูกรบกวน ชงักการเจริญเติบโต การเลี้ยงปลาบึกในฟาร์มนาน 1.5-2 ปี  จะได้ปลาบึกหนักขนาดประมาณ  30  กิโลกรัม น้ำหนักของปลาบึกที่ส่งตลาดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดนั้น
          ปัจจุบันคนจังหวัดเชียงราย  ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มฟิออนกรุ๊ป  พัฒนาเลี้ยงปลาบึกกันมากขึ้น   และเร่งรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้จักการแปรรูปปลาบึกเป็นอาหารได้หลากหลาย  ในอนาคตเนื้อปลาบึก  จะมีการนำมาใช้ทดแทนปลาแซลมอนที่ต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศในราคาสูง  สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-1803-6839, 08-1846-7820 และ 0-5395-7470.

ที่มา : กรุงเทพฯ–11 มี.ค.–ไทยโพสต์