ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 323/2559
ศึกษาธิการ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือโครงสร้างหลักสูตรและตำราเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2559 ณ ห้อง MOC โดยมีนายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมประชุม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือรายละเอียดโครงสร้างหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 อาทิ การเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษเป็นวันละ 1 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง โดยจะเน้นการสอนให้เด็กสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยไม่เน้นไวยากรณ์ อีกทั้งจะทำการระบุจำนวนคำศัพท์ที่เด็กต้องรู้ในแต่ละชั้นปีอย่างชัดเจน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นมาใช้ในการสอนภาษาอังกฤษ ตลอดจนส่งเสริมทักษะการอ่านและมีชั่วโมงซ่อมเสริมผู้เรียนที่อ่อนภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ ได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องตำราเรียนภาษาอังกฤษ
สำหรับรายวิชาอื่น ๆ ในกรอบหลักสูตรแบบเดิมจะใช้วิธีบูรณาการ ด้วยการระบุเนื้อหาที่ “ต้องรู้” และเนื้อหาที่ “ควรรู้” อย่างชัดเจน โดยครูผู้สอนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดว่าสิ่งใดที่เด็กต้องรู้และสิ่งใดที่ควรรู้ อีกทั้งจะต้องนำเนื้อหาที่เด็กต้องรู้และควรรู้ให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เพื่อให้ สทศ. ออกข้อสอบให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กเรียน ไม่ใช่ออกข้อสอบในสิ่งที่เด็กไม่ได้เรียน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ด้วยการลดเวลาเรียนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มเวลารู้ในส่วนที่จำเป็น พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีเรียนด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะมีการปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ เช่น การพิจารณาเนื้อหาของแต่ละวิชาที่เด็กในระดับชั้นประถมศึกษาควรเรียน, เปลี่ยนกลุ่มสาระให้เป็นวิชา เช่น การแยกประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระสังคมศึกษามาเป็นวิชาประวัติศาสตร์และวิชาภูมิศาสตร์, การสอนให้ทันสมัยโดยกำหนดให้มีวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิชาดิจิทัล และวิชาการออกแบบเทคโนโลยี เป็นต้น อีกทั้งหลักสูตรต้องสอดคล้องกับการประเมินและการจัดทำตำราที่ดี ซึ่งหลักสูตรที่ดีต้องทำให้นักเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็น หรือรู้ให้น้อยแต่รู้ให้ลึก ขณะนี้คณะทำงานกำลังดำเนินการเตรียมความพร้อม คาดว่าจะสามารถใช้หลักสูตรแกนกลางฉบับใหม่ได้ในปี พ.ศ.2562 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนมุมมองหลักสูตรใหม่ทั้งหมด จึงต้องอาศัยการเตรียมการเป็นอย่างมาก
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป / รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
1/8/2559