สาธารณรัฐฝรั่งเศส – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 37 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 5–9 พฤศจิกายน 2556


รมว.ศธ. ได้กล่าวถ้อยแถลงในระหว่างการประชุมเต็มคณะ (Plenary) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มขับเคลื่อน เรื่องการศึกษาเพื่อปวงชนตั้งแต่ปี 2533 และยังคงดำเนินนโยบายในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ครอบคลุมและสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงด้านการศึกษาเพื่อปวงชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2557 ซึ่งจะมีการคัดเลือกบทเรียนที่ดีจากการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนในภูมิภาคนี้มานำแสดงรวมทั้งจะมีการนำเสนอข้อหัว ที่เป็นประเด็นและเป้าหมายสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาของโลกภายหลังจากปี 2558
รัฐบาลไทยมีนโยบายสำคัญในการเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน นโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาเน้นที่การจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพของปัจเจกชน ชุมชน ประเทศ และภูมิภาค ในปี 2557 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา จำนวน 17,286 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 20.5 ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพในระดับสูง เพื่อรองรับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
นายกรัฐมนตรีไทยได้เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้ “การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ปี 2556 เป็น “ปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ความเสมอภาคหญิงชาย มีทักษะชีวิต มีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในทุกช่วงวัยทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ ประเทศไทย มีความพร้อมที่จะปฏิรูปการศึกษาและบูรณาการระบบการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาได้ มีการเรียนรู้อย่างอิสระและมีการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต
เป้าหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทย คือ การเพิ่มการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนและคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรทุนการศึกษาประจำปี จำนวน 100 ทุน ให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีได้มีโอกาสศึกษาต่อในสาขาวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพื่อให้เป็นครูหรือนักวิจัยเมื่อจบการศึกษาแล้ว นอกจากนี้ยังได้จัดสรรทุน จำนวน 580 ทุน แก่ครูที่สอนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อไปศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาโท
ในด้านอาชีวศึกษา ได้มีการปรับกระบวนทัศน์ โดยตั้งเป้าหมายผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสาย สามัญจากเดิม 40 : 60 เป็น 50 : 50 เพื่อให้เป็นสัดส่วนที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งในภาคการผลิตและบริการ มีการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานด้านอาชีพ เร่งนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาใช้ เพื่อให้ผู้จบอาชีวศึกษามีงานทำ รวมทั้งมีการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถมีการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนกันในสาขาต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ

ภาพ นงศิลินี โมสิกะ by iPhone5
รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ประเทศไทยยินดีทำงานร่วมกับยูเนสโก รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุน ด้านเศรษฐกิจเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยยังคงร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับยูเนสโก ในด้านสังคมและมนุษยศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสังคม การขจัดปัญหาความยากจน การป้องกันความรุนแรง และส่งเสริมให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global Forum on Media and Gender ในเดือนธันวาคมนี้ และยืนยันที่จะสนับสนุนการทำงานกับยูเนสโกต่อไป
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน
7/11/2556