นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาในเอเชียแปซิฟิกหรือ APREC (Asia-Pacific Regional Education Conference)เพื่อเป็นการประเมินผลความก้าวหน้าในเรื่องพัฒนาการศึกษาและร่วมกันกำหนดทิศทางการศึกษาในอนาคต ภายหลังปี ๒๐๑๕ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงระดับโลก วันที่ 6 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ |
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมฯ แบ่งเป็น 2ระดับ คือ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2557 จะเป็นการติดตามความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนของประเทศต่างๆ รวมถึงสิ่งท้าทายและการดำเนินงานด้านการศึกษาให้บรรลุผล ภายในปี 2558และการกำหนดท่าทีด้านการศึกษาในอนาคต โดยกำหนดเป็นหัวข้อย่อยสำหรับการหารือ 5ประเด็น ได้แก่ 1.การศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.การพัฒนาทักษะและสมรรถนะ 3.การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองของโลกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4.ครูแห่งอนาคตที่ต้องการ และ 5.การบริหารจัดการ และงบประมาณ ส่วน การประชุมระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 8สิงหาคม เป็นการประชุมโต๊ะกลมเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญและมุมอนาคตสำหรับการศึกษาภายหลังปี 2558และจะมีการออกแถลงการณ์รัฐมนตรีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษาภายหลังปี 2558 ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกรอบแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาภายหลังปี 2558 ซึ่งจะรับรองในการประชุมโลกด้านการศึกษา ณ สาธารณรัฐเกาหลี ในปี 2558 “การประชุมฯ ครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันกำหนดอนาคตการศึกษาภายหลังปี 2558 ของผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานด้านการศึกษาตามแถลงการณ์การประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ปี 2557ที่กำหนดให้ทุกประเทศ บรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคและมีคุณภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับประชาชนทุกคน ภายในปี 2573” ตามแถลงการณ์การประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนภายหลังปี 2558” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคและมีคุณภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการจัดการศึกษาของประเทศไทยจะมุ่งเน้นการดำเนินการ ดังนี้ 1)การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา ระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนนําความรู้ทุกแขนงมาใช้ในการแก้ปัญหา การค้นคว้า และการพัฒนาสิ่งต่างๆ ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นต้น 2) การยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญา ปรองดอง และความสมานฉันท์ โดยปฏิรูปหลักสูตร การเรียนการสอน เน้นกระบวนการคิดเชิงระบบ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย จิตสำนึกความเป็นไทย ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา 3)ยกระดับการอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนระดับกลางและระดับสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ควบคู่กับการขยายการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกงานให้มากขึ้น ส่งเสริมการมีงานทำระหว่างเรียน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อร่วมรวมพัฒนาสมรรถนะกำลังแรงงานให้มีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจในภูมิภาคและโลก 4) การปฏิรูปครู โดยเน้นการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพ และให้คนเก่งคนดีมาเป็นครู 5) เร่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา อิชยา/สรุป,วิชัย/ภาพ กลุ่มสารนิเทศ.สอ.สป. |