ประชุมผู้บริหาร รร.เอกชน

โรงเรียนไผทอุดมศึกษา – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ” ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารโรงเรียนเอกชน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2558 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 3 โดยมี ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ   ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ นายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด คณะกรรมการบริหารเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเอกชนในกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน

เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนจำนวนมาก

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีในการพูดคุยถึงนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานด้านการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาเอกชนที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในระบบการศึกษาของประเทศ และครั้งนี้เป็นโอกาสแรกที่ได้มาพบผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน และได้มาเยี่ยมโรงเรียนไผทอุดมศึกษา ที่ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว ซึ่งก็พบว่าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความโอ่โถงและสง่างาม มีนักเรียนมากถึง 3,000 คน แต่ก็สามารถบริหารจัดการได้ดี เพราะนักเรียนสามารถสร้างชื่อเสียงและเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่ดีเป็นจำนวนมาก จึงขอชื่นชมไว้ ณ โอกาสนี้

การศึกษาเอกชน ถือเป็นระบบการศึกษาที่สำคัญ เนื่องจากสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ นอกเหนือจากการศึกษาที่ภาครัฐจัดให้ เป็นระบบการศึกษาที่เข้ามาเติมเต็มให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองที่มีขีดความสามารถในการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานศึกษาเอกชนส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถยืนยันได้จากการดำรงสถานภาพการเป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงไว้ได้

เปิดเผยถึงนิยามของการปฏิรูปการศึกษา

ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นับตั้งแต่ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดูแลในเรื่องของการศึกษา โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้

นิยามศัพท์ของคำว่า การปฏิรูป หรือReform หมายความว่า ทำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมหรือสภาพที่สมควร  ส่วนคำว่า การศึกษา ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุน ให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษา คือจะทำอย่างไรให้ระบบการเรียนการสอน การจัดการศึกษา อยู่ในสภาพที่เหมาะสม

ทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญด้านการศึกษา

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาของไทยน่าจะมีปัญหา เพราะจากการวัดผลและประเมินผลขององค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าการศึกษาโดยเฉลี่ยของเด็กไทยยังอยู่ในอันดับที่ไม่น่าพอใจนัก มีเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วยังอยู่ในอันดับท้าย ทั้งๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาถึง 500,000 ล้านบาท เป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี และเป็นงบประมาณที่สูงเป็นอันดับสองของโลก

แต่หากมองอีกแง่ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก จึงตั้งงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาไว้สูงขนาดนี้ และเมื่อดูในรายละเอียดของงบประมาณ พบว่างบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบบุคลากร ทั้งในส่วนของเงินเดือน/เบี้ยเลี้ยงของครูและบุคลากรทางการศึกษาของรัฐตั้งแต่ระดับปฐมวันจนถึงอุดมศึกษา

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการมีบุคลากรในสังกัดจำนวนหลายแสนคน และมากกว่าทุกกระทรวง ในส่วนของงบลงทุนเพื่อการศึกษามีเพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม บุคคลก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ครูและบุคลากรทางการศึกษาถือเป็นต้นทุน ส่วนงบบุคลากรก็คือการลงทุนของภาครัฐ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาไปสร้างและผลิตผลงาน คือเยาวชนและลูกหลานของเราให้สำเร็จการศึกษาตามความมุ่งหวังของรัฐบาล

โดยรวมสรุปได้ว่า งบประมาณด้านการศึกษากว่า 500,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลของไทย ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหม ซึ่งดำเนินการในเรื่องของความมั่นคงของประเทศด้วย

โจทย์สำคัญของการจัดระบบการศึกษาไทย : ความไม่ชัดเจนในการกำหนดทิศทางการศึกษาในระยะยาว

เป็นการบ้านและเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะสังคมและทุกคนคาดหวังว่า กระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลชุดนี้ จะทำให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่รัฐเป็นผู้จัด คือ ความไม่ชัดเจนในการกำหนดทิศทางการศึกษาในระยะยาว ซึ่งขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ การกำกับติดตาม รวมทั้งขาดการมองภาพแบบองค์รวมทั้งระบบ เช่น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ามารับผิดชอบในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้นโยบายและทิศทางเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ประกอบกับการที่เราไม่มีนโยบายหลักของชาติด้านการศึกษา จึงเป็นจุดอ่อนและเป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังอยู่ในความรับผิดชอบ จะพยายามให้มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปอย่างไร ก็สามารถยึดเป็นแนวทางหรือนโยบายต่อไปได้

การปรับโครงสร้างในอดีต ทำให้ ศธ.มีขนาดใหญ่อุ้ยอ้าย ในขณะที่ สกศ.กลับเล็กลง

กระทรวงศึกษาธิการปฏิรูปการศึกษามาแล้วหลายครั้ง มีการปฏิรูปแบบเล็กและแบบใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการปฏิรูปครั้งใหญ่ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ซึ่งมีการปรับโครงสร้างของกระทรวง เกิดการยุบรวมองค์กรต่างๆ มาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็น 5 องค์กรหลัก ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งในทางกฎหมายเป็นอิสระต่อกัน แต่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมีอีก 7 องค์กรในกำกับ ซึ่งในส่วนของ สป. มีหน่วยงานขนาดใหญ่แต่ถูกปรับให้เล็กลงรวมอยู่ด้วย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

ในส่วนของ สกศ. แต่เดิมอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเสมือนมันสมอง เป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาให้กับรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทำงานในระดับชาติ มองภาพรวมการศึกษาของชาติทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตคนให้ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศในภาพรวม  เพราะการจัดการศึกษาไม่ได้จัดอยู่เฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงอื่นๆ และภาคเอกชน แต่เมื่อ สกศ. มาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นหน่วยงานที่มีขนาดเล็กลง มีอำนาจออกนโยบายเฉพาะในกระทรวง ไม่สามารถกำหนดนโยบายในภาพรวมของประเทศได้ “เสมือนเอายักษ์ตัวใหญ่ๆ จับมาอยู่ในขวด ไม่มีกระบอง ทำอะไรไม่ได้”

จะเห็นได้ว่า การปรับโครงสร้างใหญ่ครั้งนั้น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีขนาดใหญ่อุ้ยอ้าย จึงมองว่าส่วนนี้อาจจะเป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่ง ที่ควรจะต้องมีการปฏิรูปหรือแก้ไขในเรื่องของโครงสร้าง แม้จะยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในทันที แต่ก็ได้มีการเตรียมการเรื่องของข้อมูลไว้บ้างแล้ว

ย้ำว่าสิ่งสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่ระดับล่าง คือ นักเรียนและโรงเรียน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การวัดผลการศึกษาต่างๆ จะวัดที่เด็กนักเรียนในโรงเรียน ดังนั้นไม่ว่าจะปรับโครงสร้างหรือไม่ก็ตาม แต่ปัญหาการศึกษาก็ยังอยู่ในระดับล่าง คืออยู่ที่โรงเรียนและนักเรียนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนับล้านคน หากผลที่วัดออกมาไม่ดี ก็ต้องกลับไปดูที่โรงเรียน ดูที่นักเรียน ดังนั้น แนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงมุ่งไปที่นักเรียนและโรงเรียน และนอกจากจะพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว เราควรจะต้องมองไปข้างหน้า มองถึงสิ่งที่เราจะเผชิญในอนาคตต่อไปด้วย โดยเฉพาะการตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนให้มีทักษะความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นพหุสังคมวัฒนธรรม มีความสามารถที่เพียงพอรองรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีศักยภาพที่จะเข้าสู่สังคมโลกในศตวรรษที่ 21 และการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนปลายปี 2558

ดังนั้น ผลผลิตของระบบการศึกษา คือ เด็กและเยาวชนที่ออกไปจากระบบไม่ว่าในระดับใดก็ตาม เราจึงควรมองเป้าหมายสุดท้ายให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า เราต้องการให้เด็กมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น เด็กที่สามารถตอบโจทย์บนกระดานได้อย่างคล่องแคล่ว หรือเด็กที่สามารถตอบโจทย์ทักษะทางชีวิตได้อย่างชัดเจน มีเหตุมีผล สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่จำเป็นจะต้องมองภาพเฉพาะเด็กที่เก่งระดับชนะเลิศโอลิมปิกวิชาการทุกครั้ง แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิรูปการศึกษา คือ ต้องการเด็กและเยาวชนที่จบการศึกษาออกไปในทุกระดับ จะต้องไม่เป็นภาระของพ่อแม่และสังคม มีความคิด สามารถวิเคราะห์แก้ไขปัญหาได้เอง ดำรงตนในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ เป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม มีงานทำ ดูแลครอบครัว สร้างครอบครัวของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเรียนเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม ตลอดจนถึงมีคุณธรรมจริยธรรม มีความคิดที่ดีงาม และมีจิตอาสา ส่วนจะบวกหรือคูณเลขได้เร็วหรือไม่เป็นเรื่องรองลงมา

ในอนาคตประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกำลังคนที่มีสมรรถนะและมีทัศนคติที่ดีต่อสังคม ต่อคนรอบข้าง ต่อสิ่งแวดล้อม มีความสามารถที่จะใช้หรือสื่อสารภาษาได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาสากล หรือภาษาเพื่อนบ้าน มีกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย เปิดใจยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและความเชื่อ ซึ่งกลไกในระบบการจัดการศึกษาของไทยในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับตัวให้เอื้อต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบความคิด การจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานในระดับสากล มีความหลากหลายที่ตอบสนองต่อความต้องการเรียนรู้ของคนในทุกช่วงวัยของชีวิต ไม่เฉพาะการศึกษาที่อยู่ในระบบเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือ ความรู้จะต้องคู่กับคุณธรรม

นอกจากนี้ การศึกษาจะต้องส่งเสริมความเป็นไทย เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการศึกษาที่จะต้องส่งเสริมให้ทุกคนไม่หลงลืมในความเป็นคนไทยและให้ความสำคัญกับการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม สร้างวินัยและสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การอนุรักษ์วัฒนธรรม การสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม รวมทั้งการยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็น หากเราไม่มีความสำนึกในความเป็นไทย ไม่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเอง ไม่รู้อดีตของคนไทย เราจะมองไม่เห็นอนาคตของตัวเราเอง

● เผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่างๆ

ตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่างๆ ดังนี้

  • การปฏิรูปภาคปฏิบัติ มีเป้าหมายมุ่งไปที่นักเรียนและห้องเรียนเป็นหลัก เพื่อทำให้โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนขนาดเล็ก ดำเนินงานได้เหมือนโรงเรียนเอกชน กล่าวคือ เป็นนิติบุคคล ผู้อำนวยการและครูสามารถบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน โดยยึดถือหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก แต่สามารถประยุกต์หลักสูตรอื่นๆ ที่เหมาะกับพื้นที่ได้ ตลอดจนการบริหารงบประมาณ บุคลากร และประสานความร่วมมือหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในการจัดการศึกษา ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดการคิดนอกกรอบและเกิดการพัฒนาในห้องเรียน เช่น เด็กอ่อนภาษาอังกฤษ ควรจะต้องเพิ่มชั่วโมงเรียน หรือวิชาใดเด็กเก่งแล้ว ก็สามารถลดชั่วโมงเรียนได้ เพื่อนำไปเสริมในวิชาอื่น ต้องการให้คิดนอกกรอบเช่นนี้ เพื่อให้เด็กมีความเก่งเช่นเดียวกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนและเริ่มดำเนินการโครงการปฏิรูปภาคปฏิบัตินำร่องใน 20 เขตพื้นที่การศึกษาๆ ละ 15 โรงเรียนที่มีผลการศึกษาค่อนข้างต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งจะมีการประเมินผลทุก 3 เดือน และ 6 เดือน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงต่อไป

  • การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน กระทรวงศึกษาธิการได้จัด Reform Lab และ Coaching Lab เข้าไปใน 20 เขตพื้นที่การศึกษาที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยแนะนำให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา

  • การกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ดังเช่นโครงการปฏิรูปภาคปฏิบัติที่ได้กระจายอำนาจการบริหารไปสู่พื้นที่ ซึ่งการกระจายอำนาจนี้ไม่ได้ให้เฉพาะอำนาจ แต่จะต้องมีความรับผิดชอบด้วย หากเด็กไม่ดีแล้วไม่ต้องรับผิดชอบหรือไม่มีผลกระทบเลย คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบันในโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ โรงเรียนเอกชนมีอำนาจและความรับผิดชอบอยู่แล้ว เพราะต้องคงสถานภาพของสถานศึกษาไว้ให้ได้ หากไม่มีผู้ปกครองนำบุตรหลานมาเรียนก็จะอยู่ไม่ได้ หรือหากครูโรงเรียนเอกชนสอนไม่ดี เจ้าของโรงเรียนก็อาจจะยื่นซองขาวให้ได้ แต่ในส่วนของโรงเรียนรัฐ ผู้อำนวยการไม่ใช่เจ้าของงบประมาณ ไม่ว่านักเรียนจะสอบตกหรือไม่ คะแนน O-Net จะเป็นอย่างไร ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ยังสามารถไปสอบเลื่อนวิทยฐานะได้ ดังนั้น เมื่อให้อำนาจไปสู่พื้นที่ ก็ควรจะให้ความรับผิดชอบด้วย ในกฎกระทรวง ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับครูและบุคลากรทางการศึกษาในอนาคต เมื่อมีการกระจายอำนาจไปแล้ว จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย หากผลออกมาดี อาจจะได้เลื่อนวิทยฐานะ แต่หากผลการเรียนขอเด็กไม่ดี ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะต้องรับผิดชอบความผิดที่เกิดขึ้นด้วย

  • การปฏิรูปอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการด้านอาชีวศึกษาหลายประการ เช่น การขยายความร่วมมือการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีกับภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ร่วมเป็นครูฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ และการรับประกันการมีงานทำแก่นักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนยังมีความต้องการกำลังคนด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และภาคการท่องเที่ยว/การบริการ เป็นจำนวนกว่าแสนคน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้กำลังคนอาชีวะขาดแคลนคือ ค่านิยมการเรียนเพื่อรับใบปริญญา และภาพลักษณ์ของอาชีวะ ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองไม่ต้องการส่งบุตรหลานมาเรียนอาชีวะ ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการพยายามปรับภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ความคืบหน้างานของอาชีวะในด้านต่างๆ พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย เพื่อจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาชีวศึกษา นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา จากปัจจุบันมีสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญต่ออาชีวะ 64 : 36 จะเพิ่มขึ้นเป็น 60 : 40 และ 55 : 45 ต่อไป และตนได้ให้คำขวัญไว้ว่า “อาชีวะสร้างชาติ” เพราะมองว่าโลกยุคปัจจุบันและในอนาคต การที่เราจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ต้องใช้กำลังคนด้านสายอาชีพสร้างชาติและแข่งขันกับนานประเทศ

● การปฏิรูปการศึกษาในระยะยาว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้มีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

  • การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นที่ปรึกษาและกรรมการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ เพื่อพิจารณาการปฏิรูปการศึกษาในแต่ละเรื่อง เช่น หลักสูตร งบประมาณ เป็นต้น โดยจัดให้มีการประชุมเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น  พร้อมทั้งได้หารือแบบคู่ขนานกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกำลังดำเนินการเรื่องปฏิรูปการศึกษาอยู่เช่นกัน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาของทั้ง 3 ส่วนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

  • การแต่งตั้งซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ตามบัญชาของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะให้มีซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาเพื่อดำเนินการด้านการปฏิรูปการศึกษาให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่มีอำนาจเพียงเล็กน้อยและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว หากเป็นระบบที่รัฐบาลเป็นผู้สั่งการ ก็อาจจะรวดเร็วขึ้น

  • แนวทางการพัฒนาการปฏิรูปการศึกษาในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานระดับชาติที่กำหนดนโยบายการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อวางแนวนโยบายการศึกษาของชาติ การพัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการจัดการประเมินผล การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการและการพัฒนากฎหมายการศึกษา การกระจายอำนาจการจัดการศึกษา การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในระบบการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้และการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาระบบการผลิต การพัฒนา และการบริหารจัดการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในเรื่องของครูมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดที่จะนำโครงการคุรุทายาทกลับมาดำเนินการอีกครั้ง

● ย้ำถึงนโยบายของรัฐที่จะส่งเสริมให้การศึกษาเอกชนมีบทบาทมากขึ้น

ในส่วนของนโยบายการศึกษาเอกชน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มีความยินดีและเต็มใจสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่ายิ่งประเทศไทยมีการศึกษาที่เอกชนเข้ามาดำเนินการมากเท่าไร ก็จะแบ่งเบาภาระของรัฐบาลได้มากเท่านั้น แต่การที่ยังมีโรงเรียนของรัฐอยู่ เพราะในบางพื้นที่ยังไม่มีเอกชนเข้าไปดำเนินการ รัฐจึงจำเป็นต้องเข้าไปอุดช่องโหว่เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม แต่เมื่อไรที่เอกชนเข้าไปดำเนินการและดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว รัฐก็ควรปล่อยมือหรือถอนตัวออกมา

สำหรับความก้าวหน้าการสนับสนุนการศึกษาเอกชนของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น แนวทางการให้เงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่โรงเรียนเอกชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนงบประมาณการอุดหนุน หากได้ตัวเลขที่ชัดเจนแล้ว จะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป นี่ก็คือการแบ่งเบาภาระและช่วยเหลือภาคเอกชนให้ดำรงสถานภาพที่ดี ส่วนในเรื่องอื่นๆ ก็จะต้องแก้ไขกันต่อไป เช่น ครู บุคลากร หลักสูตร เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าทุกเรื่องที่เป็นเรื่องที่ถูกต้องและจะช่วยให้การศึกษาเอกชนเจริญเติบโตได้ ตนยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังยกร่างโดยคณะกรรมาธิการการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอเรียนให้ทราบว่ามีการเสนอเกี่ยวกับการจัดการศึกษาว่า “ให้รัฐมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการจัดการศึกษา แต่รัฐไม่ต้องลงมือจัดการศึกษาเอง ควรจะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หมายความว่า รัฐต้องพยายามถอนตัวออกมา เพื่อให้เอกชนเข้าไปแทนที่ ซึ่งอาจจะไม่ได้ดำเนินการในคราวเดียวทั้ง 100% เพราะมีในหลายส่วนที่เอกชนอาจจะยังไม่คุ้มค่าหากเข้าไปดำเนินการ รัฐจึงต้องเข้าไปดำเนินการอยู่

ต้องการวางรากฐานการศึกษาอย่างมั่นคง

ขอส่งท้ายว่า ในเรื่องของการดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม เป็นการวางรากฐานที่มีความมั่นคงไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม เพื่อมุ่งสู่การลดความเหลื่อมล้ำและการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม สามารถสร้างและผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความใฝ่รู้ มีสมรรถนะที่เหมาะสมตอบสนองต่อตลาดแรงงาน และรองรับการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต  

นอกจากนี้ ได้กล่าวฝากให้ผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในระบบการศึกษาเอกชน ได้รับทราบถึงทิศทางและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการ รวมทั้งการคิดและพิจารณาว่าในฐานะที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา จะมีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้อย่างไร ตามบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานและเยาวชนของเรา และเพื่ออนาคตของเราต่อไป

“ขอปิดท้ายด้วยคำกลอนของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวไว้ว่า

กล้วยไม้มีดอกช้า       ฉันใด
การศึกษาเป็นไป         เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราใด     งามเด่น
การศึกษาปลุกปั้น       เสร็จแล้ว แสนงาม

ซึ่งตรงกับในเรื่องของการศึกษาที่ว่า การศึกษากว่าจะเห็นผล ไม่ใช่สั่งวันนี้พรุ่งนี้จะเห็นผลเลย แต่ต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี เราปฏิรูปกันในวันนี้ อาจจะวัดผลเห็นผลในอีก 5 หรือ 7 ปีข้างหน้า”

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


ภาพ สถาพร ถาวรสุข

ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวถึงการจัดการประชุมในครั้งนี้ว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญทั้งด้านการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ สร้างคุณภาพคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตด้วยความใฝ่รู้ มีทักษะที่เหมาะสม เป็นคนดีมีคุณธรรม เพื่อสร้างสัมมาอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคนให้เหมาะกับการจ้างงาน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ร่วมกับโรงเรียนเอกชน ดำเนินการผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 1) นโยบายปีการศึกษา 2557 ปีแห่งการยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนเก่งและสร้างสังคมดี  2) พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ มีหน้าที่ความเป็นพลเมือง เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ 3) ยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชนโดยเสนอจัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนฝ่ายวิชาการ 4) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง เหตุทะเลาะวิวาท และกิจกรรมการรับน้อง 5) ให้ความร่วมมือการจัดอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคีกับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ 6) จัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาพื้นฐาน และศึกษารูปแบบการอุดหนุน/อัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคล ที่สะท้อนต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการจัดการศึกษาพื้นฐานของโรงเรียนเอกชน 7) ให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา นักเรียนนักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาเอกชนที่ประสบภัยพิบัติ 8) ดำเนินการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9) ตั้งคณะกรรมการบริหารเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเอกชนในกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนในภูมิภาค  และ 10) ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาเอกชน

ในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในปีการศึกษา 2558 และเพื่อให้นำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดแผนงานโครงการพัฒนาครูเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
12/3/2558