ศึกษาธิการ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ มีสาระสำคัญสรุปดังนี้
-
รับทราบรายงานสภาพปัญหาของ “ความต้องการอัตรากำลังบุคลากรและครู กศน.”
ที่ประชุมรับทราบ การเสนอขอเพิ่มอัตรากำลังในหน่วยงาน/สถานศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวม 2,089 อัตรา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ดังนี้
– ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด จำนวน 60 อัตรา
– ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัด ที่ขาดอัตรากำลัง (ตามกรอบที่สำนักงาน ก.ค.ศ.กำหนด) จำนวน 1,143 อัตรา ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ 191 อัตรา และนักวิชาการศึกษา/นักจัดการงานทั่วไป 952 อัตรา
– ตำแหน่งข้าราชการครู สังกัดสำนักงาน กศน.อำเภอ/เขต ที่ไม่มีอัตราข้าราชการครูแห่งละ 1 อัตรา รวม 265 อัตรา
– ตำแหน่งบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดประชาชนอำเภอ/จังหวัด ที่ไม่เคยมีอัตราบรรณารักษ์แห่งละ 1 อัตรา รวม 621 อัตรา
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ชี้แจงในที่ประชุมว่า ได้จัดอัตรากำลังให้แล้ว แต่ยังขาดงบประมาณ จึงต้องหารือกับสำนักงบประมาณก่อน หากเห็นชอบจะได้ยกร่างเตรียมเสนอ ครม.ต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน กศน.ยังมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานสอนและส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู จำนวน 5,348 คน ซึ่งมีความประสงค์เข้ารับการพัฒนาเพื่อให้ได้รับวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการศึกษา (ป.บัณฑิต) แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าเรียนได้เนื่องจากติดขัดกฎเกณฑ์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รวมทั้งครู กศน.ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดารและชายแดนในเขตพื้นที่ทรงงาน ในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และพังงา จำนวนกว่า 1,200 คน ซึ่งก็ต้องการเข้ารับการพัฒนา เพื่อให้ได้รับวุฒิ ป.บัณฑิต สำหรับยื่นขอใบประกอบวิชาชีพครูและใช้ในการสอบคัดเลือกในตำแหน่งครูผู้ช่วย
รมว.ศธ. ได้มอบสำนักงาน กศน.หารือกับสำนักงาน ก.ค.ศ.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูล สภาพปัญหา และความต้องการดังกล่าว เสนอต่อคุรุสภา เพราะครู กศน.ได้รับการยกเว้นเรื่องใบประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว หากจะใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ในการรับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีความรู้ความสามารถตามความต้องการของ กศน. เข้ามาช่วยสอนจะได้หรือไม่ หรือจะปล่อยให้มีการรับครูอัตราจ้างมาสอนจำนวนมาก และเมื่อถึงระยะหนึ่งก็ต้องปรับให้เป็นข้าราชการครู ก็จะส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตครู ทำให้คุณภาพและมาตรฐานของข้าราชการครูไม่ได้ถูกกำหนดจากระบบการผลิต แต่เป็นการกำหนดจากการแก้ไขปัญหาจากสภาพความเป็นจริงในลักษณะต่างๆ ฉะนั้นจึงควรหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม
-
รับทราบผลการสำรวจ “การรู้หนังสือ” ของประชากรไทย
ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ กศน. ซึ่งดำเนินการตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ที่ได้กำหนดให้มีโครงการ “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ต้องไม่มี” ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กศน. กำลังดำเนินการสำรวจการรู้หนังสือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของประชากรไทย เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพงานการศึกษาและศูนย์ฝีกอาชีพชุมชน เพื่อผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพในการแข่งขัน
ผลการสำรวจประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จากข้อมูล ณ วันที่ 19 มีนาคม 2557 โดย กศน.ตำบลได้ทำการสำรวจไปแล้วร้อยละ 23 ของจำนวนประชากรทั้งหมด พบว่ามีจำนวนประชากรไทยที่ไม่รู้หนังสือ 1,199,520 คน หรือร้อยละ 14 จำแนกเป็นกลุ่มอายุ 15-59 ปี มีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวน 862,350 คน หรือร้อยละ 12 และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวน 337,170 คน หรือร้อยละ 24 นอกจากนี้ มีผู้ที่พอจะรู้หนังสืออยู่บ้าง ร้อยละ 32 และผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 54
รมว.ศธ.มอบให้สำนักงาน กศน.ศึกษาแนวทางและความจำเป็นเกี่ยวกับการสำรวจผู้ไม่รู้หนังสือ และเมื่อสำรวจแล้ว สิ่งสำคัญคือการอ่านผลสำรวจ การตีความและวิเคราะห์ผลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป โดยจะต้องมีการเปรียบเทียบกับผลสำรวจผู้ไม่รู้หนังสือของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการตั้งเป้าหมายของไทย ซึ่งต้องมีการหารือต่อไปด้วยว่า ในการกำหนดเป้าหมายของประเทศจะกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงจากผลการสำรวจ หรือจะอ้างอิงเกณฑ์เป้าหมายของนานาชาติ
-
รับทราบรายงานความก้าวหน้าการยกระดับ “คุณภาพงาน กศน.”
ที่ประชุมรับทราบการรายงานความก้าวหน้า “การยกระดับคุณภาพงานการศึกษานอกระบบแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2557″ ซึ่งสำนักงาน กศน.ได้มีแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและผลการทดสอบ N-Net การศึกษาขั้นพื้นฐานสูงขึ้น โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ระดมสรรพกำลังขับเคลื่อนคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เร่งปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เสริมสร้างและพัฒนาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษานอกระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การติดตาม ประเมิน และวิจัย
โดยได้ข้อสรุปแนวทางการพัฒนาใน 6 มิติ คือ
1. มิติด้านผู้เรียน คือ มีการคัดกรองผู้เรียน และกระบวนการแนะแนวเพื่อแนะนำการเรียน กศน. และจัดให้เรียนในรูปแบบที่เหมาะสม
2. มิติด้านรูปแบบการเรียน ที่จะมีรูปแบบการเรียน กศน. ที่มีการเรียนในห้องเรียน 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควบคู่กับการเรียนรู้ต่อเนื่องด้วยตนเอง การทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 200 ชั่วโมง เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่ต้องการเรียนอย่างแท้จริง ผู้ที่มีเวลาเรียนและทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีครู กศน.จัดกระบวนการเรียนรู้ นอกจากนี้มีการจัดระบบรูปแบบการเรียนทางไกล คือ เรียนจากสื่อเอกสารและสื่อวีดิทัศน์ รวมทั้งการประเมินเทียบความรู้และประสบการณ์
3. มิติด้านการจัดการเรียนรู้ มีวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้แบบโครงงาน การเรียนรู้จากปัญหา และการเรียนรู้แบบอื่นๆ ได้แก่ การเรียนรู้แบบสาธิต และการเรียนรู้โดยการอภิปราย
4. มิติด้านสื่อการเรียนรู้ มีแนวทางดำเนินการโดยการจัดตั้งศูนย์สื่อ ONIE Media Center ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่รวบรวมสื่อการเรียนที่หน่วยงาน สถานศึกษาต่างๆ และพัฒนาขึ้นบนเว็บไซต์ www.nfe.go.th นอกจากนี้มีการพัฒนาสื่อการเรียน โดยการสรุปสาระสำคัญในบทเรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐาน และตัวชี้วัดของรายวิชา แล้วนำเสนอในรูปแบบแอพพลิเคชั่นผ่านเว็บไซต์ www.nfe.go.th/0405
5. มิติด้านครูผู้สอน โดยมีการเร่งการพัฒนาครู กศน. เพื่อพัฒนาครูผู้สอนทั่วประเทศ
6. มิติด้านการบริหารจัดการ เพื่อต้องการลดสัดส่วนของ “ครูต่อผู้เรียน” ในกลุ่มต่างๆ คือ กลุ่มผู้เรียนปกติ 1 : 60, กลุ่มผู้เรียนพิการทางสติปัญญา 1 : 5, กลุ่มผู้เรียนพิการทางร่างกาย 1 : 10, กลุ่มผู้เรียนพื้นที่พิเศษ (ศศช.) 1 : 35
รมว.ศธ.ได้มอบให้สำนักงาน กศน. รวบรวมข้อมูลต่างๆ อาทิ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ความทันสมัยของหลักสูตร และความต้องการของผู้เรียน เพื่อใช้ประกอบการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของ กศน.ในด้านต่างๆ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา นำไปสู่การตั้งประเด็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ กศน. เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป
-
รับทราบผลการดำเนินงานยกระดับ “ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน”
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานยกระดับ “ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน” ในปีงบประมาณ 2557 เพื่อผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพในการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพการศึกษาสายอาชีพของ กศน. (ปวช. กศน.) ที่มีการยกระดับศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โดยดำเนินการจัดการสอนหลักสูตรการศึกษาอาชีพที่เน้นการประกอบอาชีพได้จริงในศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน 927 แห่งทั่วประเทศ จัดสอนหลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงาน จำนวน 16 หลักสูตร รวมทั้งจัดการเรียนหลักสูตรอาชีพเพื่อการมีงานทำให้กับผู้รับบริการ จำนวน 391,200 คน และการจัดการเรียนการสอนการศึกษานอกระบบระดับ ปวช. (ปวช. กศน.) ปีการศึกษา 2556 แก่นักศึกษาจำนวน 36,403 คน
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
20/3/2557
เผยแพร่ 23/3/2557