เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2562 รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับกรณีมีผู้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับขอบเขตและความหมาย มาตรา 44 (ก) (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่บัญญัติว่า “ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมต้องมีคุณสมบัติผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด”
รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติ ไม่ได้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาว่าไม่จำเป็นต้องตีความ เพราะเป็นหลักสูตร 5 ปี ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์เป็นฝึกประสบการณ์การสอนไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ถ้าเป็นหลักสูตร 4 ปี อาจกำหนดเป็นฝึกสอน 1 เทอม และไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยวางแผนกิจกรรมเรียนรู้ในสถานศึกษา รวมระยะเวลาจำนวนชั่วโมงให้ครบตามที่กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) กำหนด จำนวน 12 หน่วยกิต ซึ่งเป็นอำนาจของคุรุสภาตามกฎหมาย และหลังจากนี้จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อรับรองหลักสูตร 4 ปี จะกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการรับรองหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา หลักสูตร 4 ปี ให้เป็นไปตามข้อบังคับ หรือพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กล่าวสรุปคือไม่มีประเด็นที่จะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย
ที่มา : ประชาสัมพันธ์คุรุสภา