ประชุมกระทรวง

ศึกษาธิการ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปดังนี้




  • ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ

จากการที่ ศธ.ได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา พ.ศ.2554 ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เพื่อให้การบริหารและการใช้ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ครอบคุลมส่วนราชการ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา 3 ระดับ เพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย


1) คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ได้ลงนามแต่งตั้งแล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน


2) คณะกรรมการดำเนินงานในการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านการศึกษาร่วมกัน โดย ศธ.ได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ของ ศธ. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 โดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธานคณะอำนวยการ และรองปลัดกระทรวง (นางผานิตย์ มีสุนทร) เป็น CIO


3) คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาของประเทศ โดย รมว.ศธ.ได้ลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 โดยมีปลัดกระทรวงเป็นคณะกรรมการอำนวยการ และรองปลัดกระทรวงในฐานะ CIO เป็นประธาน


ขณะนี้ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. ในฐานะเจ้าภาพหลัก กำลังปรับปรุงข้อมูลสถิติทางการศึกษา โดยกำลังจัดทำข้อมูลการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15-59 ปี ร่วมกับสำนักงาน กศน. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2557 รวมทั้งจัดทำข้อมูลตัวชี้วัดด้าน ICT เพื่อการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2557 นอกจากนี้กำลังจัดทำแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2557 รวมทั้งต้องการให้มีการปรับปรุงระบบข้อมูลสถิติทางการศึกษาร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายใน ศธ.


ที่ประชุมเห็นว่า การปรับปรุงข้อมูลสถิติทางการศึกษาของ ศธ. หากแต่ละหน่วยงานต่างดำเนินการโดยระบบที่แตกต่างกัน จะทำให้เกิดความสิ้นเปลือง เสียเวลา และเป็นภาระอย่างมาก จึงอาจจะต้องหาผู้ออกแบบใหม่ทั้งระบบ โดยเลือกระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้วางระบบ มีการเปรียบเทียบกับระบบข้อมูลของประเทศอื่นและหน่วยงานอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้สามารถ Integrate ทุกระบบทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันได้ รวมทั้งหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนช่วยพิจารณาวางระบบ เพื่อให้ครอบคลุมและตอบโจทย์สำคัญๆ เช่น ในระบบควรมีข้อมูลอะไรบ้าง ในการปฏิรูปการศึกษาควรจะรู้อะไรบ้าง การดำเนินการอาจไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้ภายในปีเดียว แต่อาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี เป็นต้น


ในส่วนของแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา จำเป็นจะต้องเน้นโครงสร้างพื้นฐาน เนื้อหา และมาตรฐานระบบโครงสร้างด้วย จึงขอให้มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อวางแผนดำเนินการต่อไป







  • ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการอุดหนุนคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับครูโรงเรียนเอกชนในระบบ พ.ศ. 2557

รมว.ศธ.กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้เสนอระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการอุดหนุนคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับครูโรงเรียนเอกชนในระบบ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นเงินเพิ่มสำหรับครูเอกชน เดือนละ 2,500 บาท และได้มีการลงนามแล้ว


ระเบียบดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ ครูที่มีสิทธิ์ได้รับการอุดหนุน จะต้องได้รับการแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2556 กรณีได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นการแต่งตั้งเพื่อทดแทนครูที่พ้นจากหน้าที่หรือเพิ่มเติม ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราส่วนครูต่อนักเรียนตามระเบียบว่าด้วยการกำหนดจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบ


ในส่วนของการโอนเงินอุดหนุน เดิมกำหนดให้โอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชี สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดเพื่อโอนให้โรงเรียนอีกทีหนึ่ง แต่ระเบียบฉบับใหม่นี้จะเพิ่มเติมข้อความและกำหนดให้โอนเข้าบัญชีเงินเดือนครูเต็มจำนวนที่ครูมีสิทธิ์ได้รับการยื่นขอรับเงินอุดหนุนในวาระแรก สามารถยื่นขอรับเงินอุดหนุนต่อสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดหรือสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ ภายในวันที่ 31 มกราคม 2557 จากนั้นให้รวบรวมและสรุปข้อมูลครู ส่งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดหรือสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ ภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระเบียบดังกล่าว ติดต่อสอบถามได้จาก สช.




  • กรอ.อศ. ตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 กลุ่มอาชีพ

ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) และคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ใน 3 กลุ่มอาชีพ คือ กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มอาชีพโรงแรมและท่องเที่ยว และกลุ่มอาชีพอัญมณีและเครื่องประดับ


สาระสำคัญ ตามที่ รมว.ศธ. ได้มอบนโยบาย ปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยวางเป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยส่วนของการจัดอาชีวศึกษาได้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบได้ระดับสากล ผลักดันกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ พัฒนาการเรียนการสอนโดยขยายระบบทวิภาคี ร่วมมือกับภาคการผลิตและสถานประกอบการมากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการจูงใจให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมพัฒนาสถานศึกษาในลักษณะทวิภาคี โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา : สามัญ เป็น 50 : 50 ภายในปี 2558 ดังนั้น เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ศธ.จึงได้แต่งตั้ง กรอ.อศ. เพื่อเป็นกลไกการจัดการอาชีวศึกษาภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม


ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กรอ.อศ.ในด้านการพิจารณา เสนอแนะแนวทาง และมาตรการในการแก้ไข ปัญหาอุปสรรคด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน การวางแผนกำลังคน การส่งเสริมสนับสนุนการจัดอาชีวศึกษาแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดอาชีวศึกษา การส่งเสริม ประสาน การดำเนินกิจกรรมและโครงการ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในการดำเนินการจัดอาชีวศึกษา การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน รวมทั้งข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานและที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนข้อมูลและให้คำปรึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มอาชีพโรงแรมและท่องเที่ยว และกลุ่มอาชีพอัญมณีและเครื่องประดับ







  • แผนยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยใช้องค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA ปีงบประมาณ 2557

จากการที่ ศธ.ได้กำหนดให้การศึกษาไทยต้องเดินหน้าสู่การสร้าง การพัฒนาและการเตรียมความพร้อมคนไทยสู่สังคมโลกศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งกำหนดจุดมุ่งหมายที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาคือ การพัฒนาผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยภายในปี พ.ศ.2558 ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย และผลการทดสอบ PISA ของไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น และการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการในคณะกรรมการเร่งรัด พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ขึ้น คณะกรรมการปฏิบัติการ PISA ดังกล่าว


สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดทำ ร่างแผนยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพของการศึกษาไทย โดยใช้องค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA ปีงบประมาณ 2557 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการดำเนินงาน 6 มาตรการ 15 กิจกรรม


ที่ประชุมเห็นว่า ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวควรให้มีการรับฟังความเห็นกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ดำเนินการรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงอย่างเต็มที่ เพื่อปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นให้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA เพื่อเริ่มต้นโครงการให้เร็วที่สุด


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
1
1/1/2557