ตึกสันติไมตรี – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 ที่ทำเนียบรัฐบาล
รมว.ศธ.กล่าวว่า ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอทิศทางการพัฒนาการศึกษา การผลิตและพัฒนากำลังคนในอนาคต โดยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีแนวโน้มที่ประชากรวัยแรงงานจะลดลง ส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายทางการศึกษา กล่าวคืออัตราการเกิดลดลงจากร้อยละ 1.62 ในปี 2553 เหลือร้อยละ 1.30 ในปี 2583
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาคนไทยทุกคนตามช่วงวัยนั้น สศช.ได้แบ่งกลุ่มประชากรเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
· กลุ่มเด็กแรกเกิด-ปฐมวัย อายุ 0-5 ปี ต้องได้โอกาสเกิดอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการสมวัยทุกด้าน
· กลุ่มเด็กนักเรียน อายุ 5-14 ปี มีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม มีทักษะชีวิต มีภูมิคุ้มกันต่อพฤติกรรมเสี่ยง ปลูกฝังวัฒนธรรมอันดี และได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสอดรับกับทักษะในศตวรรษที่ 21
· กลุ่มวัยรุ่น-นักศึกษา อายุ 15-21 ปี ได้รับการพัฒนาคุณภาพที่เป็นมาตรฐาน ทั้งความรู้ ทักษะอาชีพ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความสามารถในการทำงานกับผู้อื่นทั้งต่างวัยและต่างวัฒนธรรมสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน
· กลุ่มแรงงาน อายุ 15-59 ปี มีความรู้ ความสามารถและสมรรถนะ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีระบบการออมที่มั่นคง สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ ได้รับความคุ้มครองด้านชีวอนามัน ความปลอดภัยในการทำงานและกฎหมายแรงงาน
· กลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ มีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีบทบาทในการถ่ายทอดสืบสานภูมิปัญญา ความรู้ โดยมีครอบครัวและชุมชนเป็นสถาบันหลักที่ให้การสนับสนุน
สศช.ได้เสนอทิศทางการพัฒนาการศึกษา การผลิต และพัฒนากำลังคนในอนาคตเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ให้มีการสำรวจภาพรวมความต้องการกำลังคน จัดทำข้อมูลความต้องการกำลังคนในระยะเร่งด่วน โดยใช้กรอบการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และทบทวนกฎหมายด้านแรงงานและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ส่วนระยะยาว ให้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ
รมว.ศธ.ได้เสนอสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม โดยได้ประกาศให้ปี 2556 เป็น “ปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” มีเป้าหมายเพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีการคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ภายในปี 2558 ผลการสอบ PISA ของไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญเพิ่มขั้นเป็น 50:50 มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น กระจายโอกาสและเพิ่มความสามารถทางการศึกษามากขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มีการขับเคลื่อน 8 นโยบาย 5 กลไก และ 2 แนวทางบริหาร
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้มีข้อเสนอนโยบายต่อที่ประชุม ดังนี้
– ประกาศการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ
– ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน
– ใช้ ICT เพื่อการศึกษาเต็มระบบภายในปี 2020
– ปฏิรูปอาชีวศึกษา
นอกจากนี้ ศธ.ยังได้นำเสนอเรื่องการศึกษาทางเลือกต่อที่ประชุม ซึ่ง ศธ.ได้สนับสนุนในการจัด Home School โดยให้เงินอุดหนุน สนับสนุนด้านวิชาการ นิเทศติดตาม คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเด็กและครอบครัว ประเมินผลการเรียนและออกหลักฐานจบการศึกษา ส่วนสถานประกอบการนั้น ศธ.ได้อนุมัติจัดตั้งศูนย์การเรียน สนับสนุนงบประมาณรายหัว ให้คำปรึกษาแนะนำด้านวิชาการ เทียบโอนผลการเรียน เป็นต้น
รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 ชุดม เพื่อจัดทำแผนงานให้ชัดเจน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ และจัดทำเป็น Master Plan ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้เชื่อมโยงกัน ดังนี้
– ระยะสั้น คณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและบุคลากร โดยมี สศช.เป็นผู้ประสานงาน
– ระยะกลาง คณะทำงานบูรณาการสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนทุนการศึกษาจากภาครัฐ โดยปรับแก้ไขกฎเกณฑ์การให้ทุน ซึ่งอาจเพิ่มในสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น มี สศช.เป็นผู้ประสานงาน
– ระยะยาว คณะทำงานปฏิรูปการศึกษา ซึ่งครอบคลุมทุกด้านและทุกช่วงวัย มี ศธ. โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นเจ้าภาพหลัก และ สศช.ร่วมดำเนินการ
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน