เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลาประมาณ 10.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางต่อไปยังโรงเรียนจุฑาทิพย์ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อตรวจเยี่ยมการนำนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ สช. สู่ยุคดิจิทัล ไปสู่การปฏิบัติ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมโรงเรียนจุฑาทิพย์ ที่แม้จะเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ แต่สามารถสร้างเด็กและเยาวชนได้อย่างมีคุณภาพ โดยเน้นภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร, การพัฒนาความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับศิลปะ ดนตรี และกีฬา ตอบโจทย์ผู้เรียนที่มีความถนัด และความสนใจที่แตกต่างหลากหลายกัน ทั้งนักเรียนยังมีกิริยามารยาทที่งดงามตามวัย ดังนั้น โรงเรียนจึงมิได้เป็นเพียงสถานที่เรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กพนมสารคาม เป็นที่ปลูกฝัง อบรม และบ่มเพาะต้นกล้า ให้เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพิ้นที่ในอนาคต
ในส่วนของคณะครูและบุคลากร ก็สามารถทำหน้าที่ของความเป็นครูได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยดูได้จากผลงานและการแสดงออกของนักเรียน ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกฝนและเอาใจใส่จากครูมาเป็นอย่างดี ทั้งยังมีการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนด้วยระบบดิจิทัล นั่นก็คือ “Storytelling Your Knowledge: SUK.Tools” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนวัตกรรมการเรียนรู้ จากความคิดและความรู้ของผู้เรียนเอง ตามขั้นตอนของ Pencil Model ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา สอดคล้องกับนโยบาย สช. WOW WOW เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาเอกชน รวมทั้งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย
นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ฝากถึงครูวงโยทวาธิต ให้อนุรักษ์เพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เช่น เพลงสยามานุสสติ เป็นเพลงปลุกใจที่พัฒนามาจาก เป็นคำโคลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อปี 2461 และได้พระราชทานแก่ทหารอาสาสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 รวมทั้งยังมีความหมายปลุกใจ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติเป็นอย่างดีด้วย
“ในส่วนของรัฐมนตรีคนนี้ มีความตั้งใจทุกครั้งที่เดินทางลงพื้นที่ ไม่ว่าโรงเรียนแห่งนั้น จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือใหญ่ อยู่ใกล้ไกลเพียงใด จะให้ความสำคัญเสมอเหมือนกันทุกแห่ง เพราะต้องการทลายทุกข้อจำกัด ที่จะทำให้การจัดการศึกษาเอกชนเดินหน้าได้อย่างมั่นคง ครูมีความมั่นใจในการทำหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อเด็ก ๆ ที่จะเรียนอย่างมีความสุข และได้เรียนรู้ตามความถนัดความชอบของตนเอง ในส่วนของสวัสดิการที่จะเป็นขวัญและกำลังใจของครูนั้น ก็ให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก ซึ่งเกิดผลสำเร็จในการผลักดันค่ารักษาพยาบาลจาก 100,000 บาทต่อคนต่อปี เป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งยังมีแผนการทำงานต่อจากนี้ในหลายส่วน อาทิ โครงการอบรบหลักสูตรนักบริหารเอกชนระดับสูง (นบส.สช.) จำนวน 120 คนต่อรุ่น, หลักสูตรอบรมครูโรงเรียนเอกชนแบบทางเลือก (Shopping List) กว่า 19 หลักสูตร, การเปิดโอกาสให้ครูเอกชน ได้สอบคัดเลือกเป็นข้าราชการครู สังกัดสำนักงาน กศน. ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของอัตราทั้งหมด 891 อัตรา, การจัดตั้งศูนย์บริการผู้เรียน ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาชาวต่างประเทศ (One stop service) เพื่อให้บริการชาวต่างประเทศแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว เป็นต้น” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ดร.พิมพ์ประภา พาลพ่าย ครูเจ้าของนวัตกรรม SUK.Tools กล่าวว่า SUK.Tools เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่คิดค้นร่วมกับคณะ อีก 2 คน เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเครื่องมือเล่าเรื่องดิจิทัล สำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 โดยใช้แนวคิดการเล่าเรื่องแบบดิจิทัล และแนวคิดเกมมิฟิเคชัน ในการสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ตามขั้นตอนของ Pencil Model ประกอบด้วย P: การวางแผนระดมสมอง E: การสืบค้นข้อมูลและสร้างสตอรี่บอร์ด N: การสร้างเรื่องเล่าจากการเล่าเรื่อง C: การตรวจทานและสะท้อนความคิดร่วมกัน I: การเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ และ L: ประเมินผลการเรียนรู้
พร้อมทั้งได้นำนวัตกรรมมาทดลองใช้ในห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 35 คน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น มีส่วนร่วมในชั้นเรียนดี มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของตนเองและเพื่อน ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ในห้องเรียนไปในทางที่ดีด้วย
ในโอกาสเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ มีผู้บริหารและผู้มีเกียรติ ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.), นายโกเมศ กลั่นสมจิตร รองศึกษาธิการภาค 9, นายตั้ง อสิพงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทรา, นายทวีป ฉิมไทย รองศึกษาธิการจังหวัด รักษาการในตำแหน่ง ศึกษาธิการจังหวัดรครนายก, นางสาวพรวิจิตร วรศิลป์ ประธานคณะกรรมการประสาน และส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) จังหวัดฉะเชิงเทรา ตลอดจนนางเกษร พาลพ่าย ผู้ใบรับอนุญาต และ ผอ.โรงเรียนจุฑาทิพย์ คณะครู และนักเรียน
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
17/2/2563