ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบถ้วยรางวัลการแข่งขันเกมสำหรับเด็กเรียนรวม (Inclusive Kids Game) ภายใต้โครงการ เรียน เล่น เป็น สุข โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา รองนายแพทย์สารณสุขจังหวัดพังงา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ณ โรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ อ.คุระบุรี จ.พังงา
สำหรับการแข่งขันเกมสำหรับเด็กเรียนรวม (Inclusive Kids Game) ภายใต้โครงการ เรียน เล่น เป็น สุข คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กพิเศษจังหวัดพังงา ได้นำเด็กนักเรียนพิเศษและเด็กปกติ จากโรงเรียนต่างๆ ใน อ.คุระบุรี มาทำการแข่งขัน 8 ประเภทกีฬาพื้นบ้าน ได้แก่ ลากกาบหมาก ขว้างราวกาหยี เดินกะลา เป่ากบ หมากเก็บ กระต่ายขาเดียว ชักกะเย่อ และวิ่งผลัดแตงโม ซึ่งได้ทำการแข่งขันเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยในวันนี้ได้จัดให้มีพิธีมอบถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัลให้แก่หน่วยโรงเรียนที่ชนะการแข่งขัน โดยรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ หน่วยบางวัน รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ หน่วยเทศบาล รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ หน่วยคุระ และรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ หน่วยพระทองแม่นางขาว พร้อมมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน เยี่ยมชมนิทรรศการ และการสาธิตการละเล่นที่ใช้ในการแข่งขันต่างๆของเด็กนักเรียน
นางไขแสง ศักดา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กพิเศษจังหวัดพังงา ได้ขับเคลื่อนภารกิจของสมาคมฯ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยให้ความสำคัญต่อเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมช่วยเหลือ ดูแลและพัฒนาเด็กพิเศษจังหวัดพังงา ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ในการร่วมกันติดตามประเมินผลการดำเนินงานแก้ไขและพัฒนาเด็กที่บกพร่องในการเรียนรู้ ในพื้นที่อำเภอคุระบุรี โดยได้นำการละเล่นพื้นบ้านของไทยในอดีต มาจัดเป็นการเกมการแข่งขัน และเป็นสื่อในการพัฒนาส่งผลให้เด็กเกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม สร้างความรักความสามัคคี สร้างความประทับใจ ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ทั้งยังได้ประสานแพทย์เฉพาะทาง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดูแล สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองและตัวเด็ก เพื่อการสื่อสารและการพัฒนาร่วมกันอย่างรอบด้าน สอดคล้องกับหลักการของโครงการ เรียน เล่น เป็น สุข