นักวิจัย
ม.มหิดล ค้นพบพืชวงศ์ส้มกุ้งชนิดใหม่ของโลก 6 ชนิด
นักวิจัยด้านพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และสหราชอาณาจักร
ค้นพบพืชวงศ์ส้มกุ้งชนิดใหม่ของโลกเพิ่มอีก 6 ชนิด พบในเขตจังหวัดระนอง สตูล
และในเขตเทือกเขาตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์พืชแห่งภาคตะวันตก
และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
เปิดเผยว่า จากการศึกษาทบทวนตัวอย่างพืชวงศ์ส้มกุ้งของประเทศไทยทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยที่ยังคงศึกษาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ Dr.Mark Hughes
แห่งสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอระ สหราชอาณาจักร มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกอีก 6 ชนิด
ได้แก่
1.ส้มกุ้งตะนาวศรี
Begonia tenasserimensis Phutthai & M. Hughes พบในเขตจังหวัดระนอง สตูล
และในเขตเทือกเขาตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สถานภาพเป็นพืชถิ่นเดียวของไทยและเมียนมา สถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
2.ส้มกุ้งศรีเมืองไทย Begonia thailandica Phutthai & M. Hughes
พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย พบเฉพาะในเขตภูเขาหินปูน อ.สังขละบุรี
จ.กาญจนบุรี สถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถิ่นอาศัยถูกทำลาย
3.ส้มกุ้งดอยตุง Begonia doitungensis Phutthai & M. Hughes
พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เก็บตัวอย่างครั้งแรกที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย
ภายหลังสำรวจพบในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ส้มกุ้งดอยตุงมีความสวยงามเหมาะกับการพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นไม้ประดับต่อไปในอนาคต
4.ส้มกุ้งเขาพนม Begonia khaophanomensis Phutthai & M. Hughes
จากการศึกษาตัวอย่างในหอพรรณไม้ทั้งในและต่างประเทศ พบแห่งเดียวในโลกที่
เขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่
5.ส้มกุ้งเมืองเหนือ Begonia pengchingii Phutthai & M. Hughes
พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบที่ภูเขาหินปูนในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่
ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ผู้ที่เก็บตัวอย่างนี้เป็นครั้งแรก
6.ดาดหินใบบัว Begonia pengchingii Phutthai & M. Hughes
พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบเฉพาะกลุ่มภูเขาหินปูนในภาคตะวันออก
สถานภาพเป็นพืชหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้
ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย กล่าวด้วยว่า
อย่างไรก็ตามพืชวงศ์ส้มกุ้งสามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้
หากสภาพแวดล้อมยังคงสภาพดั้งเดิมโดยไม่มีการทำลาย
หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นอย่างอื่น
พืชวงศ์ส้มกุ้งสามารถนำมาปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้มีความทนทาน
เหมือนกับในต่างประเทศที่มีการนำมาประดับกันอย่างแพร่หลาย
และพืชกลุ่มนี้มีความต้องการความชื้นสูง
สามารถนำมาประดับน้ำตกหรือสวนแนวตั้งได้อย่างสวยงาม
เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศต่อไป
ดังนั้น
การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกเป็นผลจากการเก็บตัวอย่างที่สะสมมาจากยุคแรกจนถึงปัจจุบัน
ทำให้มีตัวอย่างในการศึกษาวิเคราะห์อย่างสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกระบบนิเวศ
และการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่ชนิดพืชที่ได้รับการระบุว่าไม่เคยค้นพบมาก่อนทางวิทยาศาสตร์
จัดเป็นงานสำคัญของนักพฤกษศาสตร์ เพราะเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาด้านอนุกรมวิธานพืช
ที่ไม่ได้มีแต่การเก็บตัวอย่างพืชเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วย การจำแนกพืช (plant
classification) การระบุพืช (plant identification) และการตั้งชื่อพืช (plant
nomenclature)
การตั้งชื่อพืชก็เพื่อที่จะได้รู้จักพืชและนำพืชเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง