ขับเคลื่อน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการรายงานผลการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ของกระทรวงศึกษาธิการ ระยะที่ 1 ระหว่างปีการศึกษา 2547-2558 ในประเด็นสำคัญ เช่น พบว่ามีเด็กที่เรียนไม่จบหรือไม่ศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อออกมาประกอบอาชีพหาเงินจุนเจือครอบครัว ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กที่เรียนสายอาชีพ ส่งผลให้มีเงินงบประมาณเหลือจ่ายจากการที่เด็กซึ่งได้รับทุนไปแล้วไม่ศึกษาต่อ จึงขอให้ฝ่ายเลขานุการและฝ่ายกฎหมายนำไปพิจารณาว่า ควรมีแนวทางดำเนินการงบประมาณส่วนที่เหลือจ่ายได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ขัดกับข้อกฎหมายหรือขัดกับมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติงบประมาณในโครงการดังกล่าวไว้แล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ในระยะที่ 2 (พ.ศ.2560-2576) รวมทั้งแผนการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 จะเริ่มโครงการในปีการศึกษา 2560 จนถึงปีการศึกษา 2576 ซึ่งจะจัดสรรสัดส่วนการให้ทุนการศึกษา
สำหรับจำนวนเงินที่จะจัดสรรให้กับนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ นั้น ได้ปรับเพิ่มอัตราทุนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็น 25,000 บาทต่อคน/ปี, ระดับ ปวช. 30,000 บาทต่อคน/ปี, ระดับ ปวส. 55,000 บาทต่อคน/ปี และระดับปริญญาตรี 55,000 บาทต่อคน/ปี ทั้งนี้ หากเด็กที่เรียนสายสามัญและมีความต้องการย้ายไปเรียนสายอาชีพในระดับ ปวส. ก็จะยังคงได้รับทุนการศึกษาเช่นเดิม พร้อมมีระบบติดตามทุนการศึกษาเช่นเดิม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้มีโอกาสดำเนินงานโครงการดังกล่าวระยะที่ 1 เพื่อถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงพอพระทัยกับผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ซึ่งทุนการศึกษานี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีการใช้หนี้ ไม่มีบทลงโทษ และมุ่งเน้นให้ทุนการศึกษากับเด็กที่มีฐานะยากจน จึงถือเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาและลดช่องว่างทางการศึกษาในสังคมไทยอีกด้วย
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
17/11/2559
เผยแพร่ 21/17/2559