ทีมเคลื่อนที่เร็ว รร.คุณธรรม ด่วนพิเศษ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานทีมเคลื่อนที่เร็ว (Roving Teams: RT) โรงเรียนคุณธรรม และทีมขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมด่วนพิเศษ (Express Moral Service: EMS) เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิยุวสถิรคุณ โดยมีศึกษานิเทศก์ และนักวิชาการศึกษาจากเขตตรวจราชการทั้ง 18 เขต เข้าร่วมประชุม



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า โครงการโรงเรียนคุณธรรม เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  กระทรวงศึกษาธิการโดย สพฐ. จึงได้เร่งดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา 30,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีการศึกษา 2560 ซึ่งเราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้โรงเรียนคุณธรรมประสบความสำเร็จให้จงได้ อีกทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เด็กเป็นพลเมืองดีของประเทศ และเป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณภาพ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย


ขณะนี้ สพฐ. มีแนวทางเร่งดำเนินการโครงการโรงเรียนคุณธรรมใน 8 ภารกิจ ดังนี้


1) ความขยัน: ต้องเชื่อมโยงความขยันกับความสัมพันธ์ในโลกภายนอก เพื่อให้เด็กมีความมั่นคงปลอดภัย และดำรงชีวิตอยู่ได้เมื่อถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ไม่อยู่แล้ว


2) ประหยัดและความพอเพียง: เชื่อมโยงไปถึงความเจียมเนื้อเจียมตัว เชื่อมั่นในการทำความดี โดยขอให้ช่วยกันบอกลูกหลานว่าความประหยัดพอเพียงจะก่อให้เกิดสังคมที่เป็นสุข


3) ซื่อสัตย์: ซึ่งเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับปัญญา ซึ่งจะไม่มีปัญญาของโจรผู้ร้าย และไม่มีปัญญาของความไม่ดีงามและความไม่ถูกต้อง แต่ต้องมีปัญญาสำหรับสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิต ไม่ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น


4) ความมีวินัยและความรับผิดชอบ: ความรับผิดชอบนี้เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ และความรับผิดชอบต้องมาก่อนอำนาจ หากใช้อำนาจนำหน้าความรับผิดชอบ หรือใช้อำนาจฟุ่มเฟือยจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ แต่หากใช้ความรับผิดชอบจนงานสำเร็จอำนาจหน้าที่ก็จะตามมาเสริมเพื่อเติมเต็มภายหลัง


5) ความสุภาพเรียบร้อยมีสัมมาคารวะ: โดยมีครูอาจารย์เป็นไอดอล หรือเป็นแบบอย่างที่ดี ตลอดจนขอให้ส่งเสริมการไหว้และกิริยามารยาทอย่างไทย


6) ความสะอาด: ในที่นี้หมายถึงจิตสะอาดหรือใจบริสุทธิ์ รวมถึงความเป็นสุภาพชน ความอ่อนน้อมถ่อมตน


7) ความรู้รักสามัคคี: ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบ้านเมืองไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อก่อนเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความรักความสามัคคีที่โดดเด่นมากในอาเซียน ขอให้ครูอาจารย์ช่วยกันสนับสนุน และสอนเด็กให้มีความรักความสามัคคีซึ่งกันและกัน


8) ความมีน้ำใจ ความมีไมตรีจิต: เช่น การยิ้มแบบชาวสยาม การทำงานร่วมกันระหว่างบ้าน โรงเรียน และสถาบันศาสนา ขอให้อยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา


ทั้งหมดนี้เราทุกคนต้องช่วยกันจัดกิจกรรมโรงเรียนคุณธรรมต่าง ๆ ให้เกิดการนำไปปฏิบัติได้จริง และสามารถวัดผลได้ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ



ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า ขอฝากให้ครูอาจารย์ช่วยสอนลูกหลานเยาวชนไม่ให้ลืมภาษาถิ่น และช่วยส่งเสริมให้ไม่อายที่จะพูดภาษาถิ่น รวมทั้งขอให้ดำรงรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นไทย คือ ความสุภาพอ่อนน้อม มีวุฒิภาวะ รู้จักใช้วิจารณญาณอย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อความร่มเย็นเป็นสุขในสังคมและความมั่นคงของชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “ครูสร้างเด็กเพื่อให้เด็กไปสร้างชาติ เพราะอนาคตของชาติอยู่ในมือของลูกหลานเยาวชน”



อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
29/3/2560