จุฬาฯ คว้าชัย 2 เวทีนานาชาติ จากนวัตกรรมไบโอกรีนโนเทค สกัดสมุนไพรไทย ในการประกวดรางวัลสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่สุดในโลกที่ สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมตอบปัญหาการแพทย์ จากมาเลเซีย…
ศ.ดร. นงนุช เหมืองสิน ผอ.หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม และอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งคณะวิจัยได้แก่ น.ส. อุฬาริกา ลือสกุล และนายศักดิ์ชาย หลักสี นำผลงาน นวัตกรรม BioGreenoTech (ไบโอกรีนโนเทค) ไปร่วมการประกวด รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก ภายใต้ชื่อ International Exhibition of Invention of Geneva ครั้งที่ 46 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-16 เม.ย. ที่ผ่านมา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย มีผู้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงมากกว่า 1,000 สิ่งประดิษฐ์ และมี Licences ที่พร้อมขายภายในงาน มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านยูโร ทั้งนี้ผลปรากฏว่า ทีมนักวิจัยไทย สามารถคว้ารางวัล Special Prize จาก SPACE Research Institute of RAS และรางวัลเหรียญเงินจากนวัตกรรม BioGreenoTech
ผอ.หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาฯ กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจ ที่เราได้พัฒนานวัตกรรม BioGreenoTech ซึ่งเป็นกระบวนการทรีทเม้นท์สมุนไพรเพื่อเพิ่มปริมาณ หรือยับยั้งการสลายตัวของสารออกฤทธิ์สำคัญในสมุนไพร เป็นการปฏิวัติและพลิกโฉม กระบวนการสกัดสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนกลิ่นของสมุนไพรให้มีความละมุนอโรมา ตามชนิดของสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนกระบวนการผลิต โดยกระบวนการดังกล่าวจะเข้ามายกระดับและพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรไทยให้อยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพ มาตรฐาน และความเสถียรของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
กระบวนการ BioGreenoTech มีจุดเด่นคือ เป็นกระบวนการสีเขียว ไม่ใช้สารเคมีหรือความร้อนสูง และไม่ใช้เครื่องจักรราคาแพง เหมาะสำหรับการนำมาใช้กับสมุนไพรชนิดหัว อาทิ กระเทียม ไพล ขมิ้น กระชายดำ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานวิจัยได้ทดสอบนำกระบวนการนี้ไปทดสอบกับกระเทียม พบว่า สามารถผลิตกระเทียมที่มีกลิ่นน้อย และมีปริมาณอัลลิอินสูงที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานมา นอกจากนี้ยังได้นำไปทดสอบในกระบวนการทำครีมลดอาการปวดที่ผลิตจากไพล พบว่าสามารถลดกลิ่นฉุนของไพลและยังคงมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มของฟีนิลบิวทานอยด์ไว้ได้ในปริมาณที่สูง ศ.ดร.นงนุช กล่าว ผอ.หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี กล่าวด้วยว่า คณะผู้วิจัยจะเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการของไทยที่สนใจโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสมุนไพร ได้เข้ามาศึกษาต่อยอด ยกระดับมาตรฐาน และพัฒนาธุรกิจจากสมุนไพรไทยให้สามารถก้าวไกลและเติบโตในตลาดโลก ตามที่ภาครัฐได้คาดหวังไว้ในนโยบาย Thailand 4.0 ที่ต้องการให้ธุรกิจไทยเติบโตโดยใช้เทคโนโลยีและงานวิจัยมาเป็นพื้นฐาน ขณะที่อีกหนึ่งความสำเร็จของจุฬาฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมนิสิตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันการ Global University Medical Challenge (GUMC) ณ International Medical University ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก ที่ ประเทศมาเลเซีย มาครองได้สำเร็จ โดย นพ.เสกข์ แทนประเสริฐสุข อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ ได้ส่งทีมนิสิตแพทย์ จำนวน 3 คน เข้าร่วมการประกวดตอบปัญหาทางการแพทย์ ได้แก่ นายกัญจน์พัฒณ์ เตมหิวงศ์ และ นายทฤษฎี เลาหเสรีกุล ชั้นปีที่5 และนายอาชวิน อิงคานุวัฒน์ ชั้นปีที่3 โดยการประกวดครั้งนี้มีนักเรียนแพทย์จากประเทศต่างๆเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 20 ทีม และความสำเร็จในครั้งนี้นอกจากจะทำให้ทีมนิสิตแพทย์ จุฬาฯ ได้ เพิ่มพูนความรู้และทักษะทางวิชาการแล้ว ยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียนแพทย์ต่างชาติ รวมทั้งยังช่วยเปิดโลกทัศน์ของความรู้และแนวคิดทางการแพทย์ให้กว้างไกลขึ้น