การบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ
โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ” จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง ศธ. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และธนาคารโลก (World Bank) พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายการศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ” โดยมี รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมกว่า 100 คน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 ที่ห้องประชุมบุษบงกช เอ
เรื่องสำคัญที่จะดำเนินการในครั้งนี้ เริ่มจากเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวว่ามีปัญหาอย่างไร จากที่เคยให้โจทย์ไว้ และมีการจัดตั้งคณะทำงานมาดูแล ได้มีการดำเนินการไปจนถึงเรื่องระบบในการบริหารทรัพยากรเพื่อการศึกษา ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องงบประมาณ เงินอุดหนุนรายหัว และการดูแลค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่มีต่อการศึกษา โดยมุ่งเป้าหมายที่การจัดการศึกษาเพื่อให้เยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน จึงต้องขอความร่วมมือจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการอิสระมาช่วยกันคิด และให้มีการนำเสนอเรื่องที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อระบบการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องระบบการเงิน
ประเด็นที่มีการนำเสนอในวันนี้ เช่น การใช้ทรัพยากร การอุดหนุนรายหัวให้แก่นักเรียนที่มีฐานะยากจนให้มากขึ้น การอุดหนุนโรงเรียนเอกชนให้เท่าเทียมกับโรงเรียนรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก รวมถึงการสนับสนุนเงินอุดหนุนให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่จำนวนมาก การเสนอระบบการจัดการให้มีการบริหารอย่างมีเครือข่าย และการสร้างเครือข่ายในการดูแลโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนของข้อเสนอที่สำคัญอื่น เช่น การจัดการศึกษาที่มีปัญหาในเรื่องของเงินอุดหนุนที่ให้แก่ กศน. ที่รวมเงินเดือนครูซึ่งเป็นครูอัตราจ้าง ทำให้การจัดการศึกษาของ กศน.เท่ากับว่าได้รับเงินอุดหนุนน้อย อีกทั้งการให้เงินอุดหนุนแก่ สอศ.ในสัดส่วนที่น้อยกว่าของ สพฐ. ทั้งที่ ศธ.ต้องการเพิ่มปริมาณผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาในสายอาชีวศึกษา ดังนั้น หากมีการหารือกันอย่างจริงจัง ก็จะนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นแผนงาน และมีการวางระบบที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินเพื่อการศึกษาครั้งสำคัญของการศึกษาไทย
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปจากการสัมมนาในครั้งนี้แล้ว สามารถนำไปใช้เพื่อประเมินได้ว่า หากเรื่องใดที่ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ควรดำเนินการทันที แต่หากเป็นเรื่องที่ต้องขอมติ ครม.ที่จะมีผลผูกพันต่อไป ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ดำเนินการ ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีการจัดประเด็นที่จะช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนยากจนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม มีการจัดสรรระบบการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะระบบการเงินกันใหม่ ซึ่งจะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพ มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการระดมทรัพยากรจากฝ่ายต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
30/4/2557