สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบตู้เก็บและชาร์จแท็บเล็ต ซึ่งผลิตโดยนักศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 โดยมีนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมในพิธีครั้งนี้
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีที่ สอศ. และ สพฐ.ได้ร่วมกันทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายของ ศธ. นอกเหนือจากนโยบายเรื่องการรับเด็กเข้าศึกษาต่อ และนโยบายเกี่ยวกับการนำ ICT มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่ง สอศ.มีแนวทางที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงงาน โดยส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้ทำโครงงาน นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์
ดังนั้น การจัดโครงการผลิตและพัฒนาตู้เก็บและชาร์จแท็บเล็ต จึงเป็นโอกาสที่เด็กอาชีวะกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นเด็กที่เรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า และสาขาที่เกี่ยวข้อง จะได้แสดงความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี โดย สอศ.ได้เชิญชวนให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 67 แห่ง ได้ร่วมกันพัฒนาตู้เก็บและชาร์จแท็บเล็ต ซึ่งขณะนี้สามารถผลิตได้ 285 เครื่อง โดยมีขนาดบรรจุตั้งแต่ 30 – 60 เครื่อง ขึ้นอยู่กับขนาดตามความต้องการของแต่ละท้องที่ คิดเป็นพื้นที่ที่จะชาร์จแท็บเล็ตได้ทั้งหมด 12,420 เครื่อง
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดคุณลักษณะพื้นฐานของตู้เก็บและชาร์จแท็บเล็ตร่วมกัน 6 เรื่อง คือ 1) เป็นตู้เก็บและชาร์จแท็บเล็ตได้ตั้งแต่ 30 – 60 ตัว 2) มีระบบไฟฟ้าสำรองเมื่อไฟฟ้าดับ 3) สามารถตั้งเวลาในการชาร์จและตัดไฟเมื่อชาร์จเต็ม 4) มีไฟแสดงผลการชาร์จ 5) เป็นตู้เหล็กแบบมีฝา ล้อ และพัดลมระบายอากาศ 6) มีระบบป้องกันไฟช็อต ไฟดูด และไฟรั่ว
สำหรับแนวทางการทำงานในขั้นตอยต่อไปนั้น สอศ.จะให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 67 แห่ง ประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจัดสรรให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมต่อไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของเด็กที่ใช้แท็บเล็ต ตามที่รัฐบาลมีนโยบายมอบแท็บเล็ตเพื่อให้นักเรียนและครูใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ และเด็กเข้าถึงความรู้ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่ในการใช้แท็บเล็ตต้องมีความไม่สะดวกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของการชาร์จไฟ จึงได้มีการปรึกษาหารือกับ สอศ.และได้ร่วมกันคิดโครงการดังกล่าวขึ้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น
แม้จะเป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ด้วยความตั้งใจ และการให้ความสำคัญของ สอศ. จึงได้แบ่งงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการนี้ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอาชีวศึกษาที่จะได้ใช้เป็นโอกาสในการศึกษา ฝึกฝน เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โครงการลักษณะนี้จะเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานทั้งสองด้วย และหวังว่า สพฐ.จะนำไปพัฒนาปรับปรุงการทำงานเกี่ยวกับการใช้แท็บเล็ตต่อไป
นายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน กล่าวในนาม สพฐ. ว่าโครงการจัดทำตู้เก็บและชาร์จแท็บเล็ต ถือเป็นโครงการที่ดีที่ สพฐ.ได้ให้ความร่วมมือในการให้ตัวอย่าง รูปแบบในการผลิตและพัฒนาตามความต้องการ เพราะโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดใหญ่ และโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในชนบท หลายโรงเรียนไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเห็นว่าตู้เก็บและชาร์จแท็บเล็ตที่ทางสถานศึกษาอาชีวศึกษาได้ผลิตและพัฒนาขึ้นมามีหลากหลายรูปแบบ เช่น ตู้ที่ใช้ชาร์จกับแสงอาทิตย์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในชนบท
ในขั้นต่อไป สพฐ.จะขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประสานโดยตรงกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อไปรับเครื่อง และส่งต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ ต่อไป
กุณฑิกา พัชรชานนท์/นพรัตน์ สบายกาญจน์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
7/1/2557