ตอบโจทย์ Thailand 4.0

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ “การพัฒนาอุดมศึกษาไทยเพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0” เมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม 2562 ณ ห้องแมนดาริน แกรนด์บอลรูม โรงแรมแมนดาริน โดยมี รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นาวาโทหญิงแพทย์หญิงอุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, รศ.พญ.ศศิธร เพชรจันทร ประธานอนุกรรมการวิชาการในคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย พร้อมทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าหน้าที่ธนาคารเลือด และผู้ที่ทำงานด้านงานบริการโลหิต กว่า 500 ท่าน เข้าร่วม



ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบันกำลังเข้าสู่การบริการสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ถือเป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มเกิดการเจ็บป่วยบ่อย ตลอดจนมีอาการรุนแรงและรักษาไม่หายขาด ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ระยะสุดท้ายของโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย และงบประมาณด้านสาธารณสุขจากรัฐบาลก็อาจไม่เพียงพอ แม้ผู้ป่วยบางกลุ่มจะรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองก็ตาม


ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการดูแล ป้องกัน และสร้างเสริมสุขภาพก่อนที่จะป่วย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การคัดกรอง การเตือนล่วงหน้า การวินิจฉัย และการรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น พัฒนาเทคนิควิธีการด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย ที่ตรวจวิเคราะห์ด้วยความไวสูงขึ้น มีความเฉพาะเจาะจงและแม่นยำยิ่งขึ้น นำไปสู่การออกแบบยาที่ใช้รักษา สร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือค้นหาวิธีการรักษาที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้


ำหรับการพัฒนาอุดมศึกษาไทยเพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนความเสี่ยงของแรงงานที่ถูกทดแทนด้วย Automation และ AI ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนและคนวัยทำงานในยุคนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย สถาบันอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องเร่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้เท่าทันในศตวรรษที่ 21 มีทักษะและสมรรถนะสูง ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอย่างแท้จริง และมีคุณลักษณะสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving), ทักษะการสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม (Creativity and Innovation), ทักษะการสื่อสาร สารสนเทศ เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy) และทักษะการร่วมมือในการทำงานเป็นทีม และมีภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) พร้อมทั้งมีอุปนิสัยพื้นฐานที่พึงประสงค์เพื่อสร้างความสำเร็จในการทำงาน เช่น การรู้จักหน้าที่ มีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม ใฝ่รู้และใฝ่เรียนตลอดชีวิต สู่การขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalizing Knowledge-Based Economy) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการสร้างองค์ความรู้ การวิจัยและการพัฒนา ปรับนโยบายและการผลิตสินค้า บริการ ที่อยู่อาศัย นวัตกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรด้วยปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ต่อไป


รศ.พญ.ศศิธร เพชรจันทร กล่าวถึงการประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับชาติครั้งที่ 27 ประจำปี 2562 (The 27 “Annual Academic Meeting of National Blood Centre 2019) ว่าจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก Driving Transfusion Medicine to Thailand 4.0 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ทำงานด้านแพทย์, เภสัชกร, พยาบาล, นักเทคนิคการแพทย์, นักวิทยาศาสตร์การแพทย์, เจ้าหน้าที่ธนาคารเลือด, โรงพยาบาลทั่วประเทศ และผู้ที่ทำงานด้านงานบริการโลหิตได้รับความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ ของงานบริการโลหิตที่ทันสมัย มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ เสนอผลงานวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านงานบริการโลหิต กระตุ้นให้มีการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่องานบริการโลหิต และติดตามนวัตกรรมการบริการโลหิตที่ทันสมัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานบริการโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานบริการโลหิตของประเทศต่อไป


นาวาโทหญิงแพทย์หญิงอุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการงานครั้งนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะอนุกรรมการวิชาการ ในคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย จัดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่นำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 โดยจัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2536 เพื่อแสดงความรู้และผลงานวิจัยด้านธนาคารเลือด ตลอดจนนวัตกรรมด้านงานบริการโลหิตที่มีความทันสมัย ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ทำงานด้านเวชศาสตร์การบริการโลหิตโลหิตวิทยา ซึ่งเป็นงานบริการในกลุ่มสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ต้องอาศัยการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในงานบริการโลหิตให้เกิดประสิทธิผลยิ่ง ๆ ขึ้นไป อาทิ การควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิตส่วนประกอบโลหิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล, การตรวจคัดกรองโลหิตผู้บริจาคเพื่อหาเชื้อไวรัสซิกา และไวรัสตับอักเสบอี โดยใช้วิธี NAT เป็นเทคโนโลยีที่มีความไวสูงในการตรวจเชื้อ การตรวจทางชีวะโมเลกุลหา Antigen ของระบบหมู่เลือดในเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เป็นต้น










Written by ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว
Photo Credit
อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร