เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. นางสาวประดินันท์ สดีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และนายบุญสนอง พลมาตย์ รองศึกษาธิการจังหวัดยโสธร พร้อมด้วยคณะทำงานติดตามผลตามนโยบายการตรวจราชการเฉพาะด้าน (Agenda Based) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นโยบายการเรียนรู้ด้วยวิธีการ Active Learning ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ บุคลากรกลุ่มตรวจราชการและติดตามประเมินผล ศธภ. 14 และศึกษานิเทศก์ สนง.ศธจ.ยโสธร ลงพื้นที่ตรวจราชการและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active Learning ตามบริบทในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 11 และ 14 ณ โรงเรียนชุมชนบ้านาหนองคู (อินทร์ประชาคาร) อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต 1 โดยมี นายพินิจ คาดพันโน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงาน ในการนี้คณะทำงานได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและแบ่งกลุ่มผู้ให้ข้อมูลเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มครู กลุ่มผู้ปกครอง และนักเรียน เพื่อรับทราบสภาพทั่วไปเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน การดำเนินการเรียนการสอนแบบ Active Learning ด้านหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านสื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านการประเมินการเรียนรู้ ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขที่โรงเรียนได้ดำเนินการ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผลที่ได้จากการวิจัยจะนำเสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อกำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป
จากนั้น ได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนและมาตรการป้องกันในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของโรงเรียนชุมชนบ้านหนองคู (อินทร์ประชาคาร) ซึ่งเปิดสอนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จัดการเรียนการสอนแบบ On-Site โดยสลับกลุ่มผู้เรียน แบบแบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็น 2 กลุ่ม โดยชั้นอนุบาล – ป. 6 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม สลับวันเรียน กลุ่มที่เรียนที่บ้าน ครูให้ใบงาน/แบบฝึกหัด ไปทำที่บ้าน และระดับชั้น ม.1 – ม. 3 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม แยกห้อง มาเรียนทุกวัน การรับประทานอาหารกลางวัน เนื่องจากโรงอาหารมี 74 ที่นั่ง จึงใช้วิธีจัดเหลื่อมเวลา เป็น 3 ช่วง คือ เวลา 11.00 น. ชั้นอนุบาล เวลา 11.30 น. ชั้นประถมศึกษา และเวลา 12.00 น. ชั้นมัธยมศึกษา อาหารกลางวันของนักเรียน โรงเรียนได้ร่วมกับผู้ปกครองจัดทำเมนูประจำเดือน เน้นอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพของนักเรียน โดยเลือกใช้วัสดุที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรผู้ผลิตจะนำส่งให้ที่โรงเรียน ผู้บริหารและครูเอาใจใส่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน โดยสร้างความตระหนักให้นักเรียนรู้จักวิธีการป้องกันตนเองและปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด รร.มีการคัดกรองก่อนเข้า รร. ครูและนักเรียนสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า มีจุดล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน นักเรียนระดับอนุบาลมีตะกร้าสำหรับเก็บของใช้และของเล่นส่วนตัว ปัญหาที่ประสบคือ 1) ห้องเรียนไม่เพียงพอจึงต้องสลับวันเรียนทำให้ครูมีชั่วโมงในการเรียนการสอนมากเกินไป 2) ขาดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องรับสัญญาณและโทรทัศน์ในการเรียนทางไกล (DLTV)