จังหวัดเชียงราย – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ ประสานกรมโยธาสำรวจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถานศึกษาอาชีวะในพื้นที่ใกล้เคียง จัดทีมผู้เชี่ยวชาญสำรวจอาคารเรียนซึ่งประสบความเสียหายจากแรงแผ่นดินไหว พร้อมทั้งให้หาสถานที่เรียนสำรอง หากยังไม่ได้รับการตรวจสอบความแข็งแรง

รมว.ศธ.เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนแรง 6.3 ริกเตอร์ ความลึก 10 กิโลเมตร ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.57 เวลา 18.08 น.อันส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัด โดยกล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่ามีโรงเรียนใน จ.เชียงราย ได้รับความเสียหายอย่างหนักจำนวน 5 แห่ง อยู่ใน อ.พาน อ.แม่ลาว และ อ.แม่สรวย โดยเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา 3 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 36 เชียงราย-พะเยา ได้แก่ โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม โรงเรียนพานพิทยาคม โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม และโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 2 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา และโรงเรียนชุมชนป่าก่อดำ ทั้งนี้ ความเสียหายส่วนใหญ่เป็นตัวโครงสร้างอาคารเรียน ผนังบางส่วนเสียหาย อาคารบางส่วนยุบตัว หรือพังทลายลงมา
นอกจากนี้ มีโรงเรียนในพื้นที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลาง จำนวน 30 แห่ง และมีโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับความเสียหายเกิดรอยร้าวที่อาคารเรียน 8 แห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา อ.พาน จ.เชียงราย ตัวอาคารบางส่วนพัง ได้รับความเสียหาย ท่อน้ำแตก ถังเก็บน้ำชั้นบน ร่วงลงมาชั้นล่าง
ขณะนี้ ศธ.กำลังรวบรวมความเสียหาย ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นได้ให้ มทร.ล้านนา และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทีมวิศวกรเข้าไปสำรวจความเสียหาย เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องแผ่นดินไหว จึงไม่แน่ใจว่าอาคารเรียนที่ได้รับความเสียหาย มีอาคารที่มีรอยร้าวจากการเกิด Aftershock ขึ้นมาซ้ำๆ จะมีอันตรายหรือไม่ ขณะเดียวกันได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมโยธา เข้าไปสำรวจอาคารเรียน ที่ได้รับความเสียหาย ว่าจะใช้งานให้เด็กได้เรียนต่อได้หรือไม่
ทั้งนี้ ช่วงที่ยังไม่มีการประเมินหรือรับรองจากผู้เชี่ยวชาญ ก็จะสั่งการเป็นนโยบายไปว่า ไม่ให้เข้าไปใช้อาคารเรียนนั้นๆ อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะโรงเรียนทั้ง 5 แห่ง ต้องให้ผ่านการประเมินก่อน เพราะเรื่องนี้ต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายตามมา หากปล่อยเข้าไปเรียนในอาคารที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบแล้วเกิดอาคารพังทลายขึ้นมา ครูและนักเรียนจำนวนมากจะได้รับอันตราย และหากประเมินไม่ทันก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2557 ก็ขอให้โรงเรียนหาวิธีการแก้ปัญหา โดยใช้อาคารเรียนอื่นที่ไม่ได้รับความเสียหาย ก่อสร้างอาคารเรียนสำรองชั่วคราว หรือหาที่เรียนสำรอง และหากจำเป็นจะต้องมีการรื้ออาคารเรียนเพื่อก่อสร้างใหม่ ก็ต้องของบประมาณฉุกเฉินจากงบกลางต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วนต่อไป
อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าอาคารเรียนส่วนใหญ่ไม่รองรับการเกิดแผ่นดินไหว ดังนั้นการก่อสร้างอาคารเรียนต่อไปต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้อาคารเรียนสามารถรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน
7/5/2557
ขอบคุณ : ข่าวสยามรัฐ