ศึกษาธิการ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (Vocational Chemical Engineering Practice College : V-ChEPC) วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ระยะที่ 3 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มูลนิธิศึกษาพัฒน์ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศธ. กล่าวแสดงความชื่นชมการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ ศธ.ได้ศึกษาวิเคราะห์ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการลักษณะนี้เป็นการแสดงถึงทิศทางที่ ศธ. ต้องการส่งเสริม คือ ความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในการจัดการศึกษา ทั้งการร่วมคิดหลักสูตร แนวทางการเรียนการสอน การฝึกอบรมอาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ สามารถผลิตคนได้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน
จึงต้องการให้มีการขยายโครงการลักษณะนี้ ในสาขาและอุตสาหกรรมอื่นๆ และให้มีการดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นด้วย รวมทั้งให้มีการถอดบทเรียน ถอดประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและนำไปใช้เพื่อขยายผลโครงการในวิทยาลัยอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความพร้อม ความเป็นไปได้ และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ขอบคุณผู้เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ความรู้ แรงกายแรงใจที่ได้ทุ่มเทดำเนินโครงการมาถึงระยะที่ 3 แล้ว โดยเชื่อว่าโครงการจะประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ดำเนินการมาถึงระยะที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทยจำกัด กลุ่มบริษัท อูเบะ (ประเทศไทย) และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยได้สนับสนุนงบประมาณตลอดโครงการกว่า 60 ล้านบาท รวมทั้งได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารโครงการ V-ChEPC ให้ใช้โรงงานเป็นสถานที่เรียนรู้ภาคปฏิบัติ และสนับสนุนการพัฒนาครูผู้สอนของสถานศึกษาในสถานประกอบการ
นอกจากนี้ มีหน่วยงานสำคัญที่ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ อาทิ มูลนิธิศึกษาพัฒนาด้านการอบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหาร ครูและนักเรียน ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้การสนับสนุนการเรียนการสอนแก่นักศึกษาในระยะเริ่มต้นโครงการ และร่วมจัดหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการด้วย
ปัจจุบันมีผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรโครงการรวม 4 รุ่น จำนวน 128 คน ซึ่งได้รับเข้าทำงานในสถานประกอบการปิโตรเลียมและปิโตรเคมีทั้งหมด โดยได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาท ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับการยอมรับจากสังคม ส่งผลให้มีผู้สมัครเรียนโครงการเพิ่มขึ้น และจากกระแสตอบรับที่ดี สอศ.จึงได้วางแผนที่จะนำแนวความคิดของ ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ ทั้งด้านการจัดทำหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอน ขยายผลโครงการไปสู่สาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือในวิทยาลัยอื่นด้วย โดย สอศ.มีความพร้อมที่จะดำเนินงานอย่างเต็มที่และสานต่ออย่างต่อเนื่องต่อไป
สรุป/รายงาน
28/10/2556