ความร่วมมือกับญี่ปุ่น

ศึกษาธิการพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนายชิเกะกะซุ ซะโตะ (H.E. Mr. Shigekazu Sato) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม


เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเป็นเวลาหลายปี ทั้งด้านการลงทุน ด้านธุรกิจ มีบริษัทญี่ปุ่นเปิดทำการในประเทศไทยจำนวนมาก มีการแลกเปลี่ยนทางการค้า รวมถึงด้านการศึกษา โดยมีโครงการและความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่


ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้กับนักเรียนนักศึกษาไทยเพื่อศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้สามารถสนับสนุนทุนดังกล่าวแก่นักเรียนนักศึกษาไทยได้เพียงปีละประมาณ 200 คน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับทราบว่าทุนรัฐบาลญี่ปุ่นมีประโยชน์ ผู้ได้รับทุนไม่ใช่เฉพาะนักเรียนนักศึกษาในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่รวมถึงนักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศไทย



  • โครงการผู้ช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน เป็นโครงการส่งครูอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นมาเป็นครูช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นในสถานศึกษาต่างๆ ร่วมกับครูผู้สอนชาวไทย ปี 2557 เป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดส่งครูอาสาสมัครรุ่นที่ 1 มาประเทศไทย จำนวน 29 คน และแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษา จำนวน 29 แห่ง ระหว่างเดือนกันยายน 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมสถานศึกษาที่เปิดสอนภาษาญี่ปุ่น พบว่าจำนวนครูอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นมีจำนวนไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีครูผู้สอนชาวไทย แต่ก็ควรให้มีครูที่เป็นชาวญี่ปุ่นมาช่วยสอนด้วย เพื่อให้มีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น



  • โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน JENESYS 2.0 เป็นโครงการที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับนานาชาติ มีการเปิดโอกาสให้เยาวชนจากภูมิภาคเอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิก และอเมริกาเหนือ รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาไทยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมามีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว 3 รุ่น (รุ่นที่ 1 จำนวน 45 คน รุ่นที่ 2 และ 3 จำนวนรุ่นละ 100 คน) สำหรับรุ่นที่ 3 มีกำหนดเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในเดือนมกราคม 2558


    ทั้งนี้ การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ จึงต้องการให้มีความร่วมมือกับ ศธ.เพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ และหวังว่าสิ่งที่ รมว.ศธ.พยายามแก้ไขเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทยจะเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ


    รมว.ศธ. กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับแรก อีกทั้งได้ให้การสนับสนุนเยาวชนไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาต่างๆ เช่น ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น โครงการผู้ช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการส่งครูอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นมาช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นร่วมกับครูผู้สอนชาวไทยในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับปี 2557 เป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดส่งครูจำนวน 29 คน มาประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเดือนกันยายน 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2558 มีความคาดหวังว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งครูอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นมาประเทศไทยมากขึ้นในปีการศึกษาถัดไป


    ในส่วนของโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน JENESYS 2.0 เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาไทยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาไม่นานแต่ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการได้เป็นอย่างดี


    ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศในฝันของเยาวชนไทยที่ให้ความสนใจและเป็นที่นิยมไปศึกษาต่อสูงมาก จึงมีผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (One District One Scholarship : ODOS) ที่เลือกศึกษาในประเทศญี่ปุ่น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 420 คน และปัจจุบันมีนักเรียนทุนโครงการดังกล่าวที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 125 คน ต้องฝากให้ช่วยดูแล เพื่อให้ผู้รับทุนสามารถจบการศึกษากลับมาด้วยความภาคภูมิใจ และสามารถใช้ทักษะและภาษาในการทำงานได้


    นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีหน้าที่ผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรมให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศชั้นนำในวงการอุตสาหกรรมของโลก จึงต้องการการสนับสนุนด้านความรู้ อุปกรณ์การเรียนการสอน ทุนการศึกษา การให้ความรู้ รวมถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทยต่อไป


    รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงปัญหาของการศึกษาไทย มีตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติ ระดับนโยบาย จนถึงระดับโครงสร้าง ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องทำควบคู่กันไป โดยต้องปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม และลงลึกไปถึงระดับผู้ปฏิบัติ คือ นักเรียนและครู เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อหาจุดบกพร่องของโครงสร้างและระบบการศึกษา อาจจะต้องมีการปรับหรือแก้ไขกฎหมาย และการจัดการเรียนการสอน ในระดับผู้ปฏิบัติ ก็จะพยายามศึกษาและแก้ไขเรื่องการผลิตและพัฒนาครู ต้องยอมรับว่าปัญหาสะสมมานาน การแก้ไขปัญหาจะต้องใช้เวลาพอสมควร รวมทั้งต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาด้วยว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร


    ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องท้าทาย แต่มีความตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุด โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นในเรื่องที่เกี่ยวข้อง


    กุณฑิกา พัชรชานนท์
    บัลลังก์ โรหิตเสถียร
    สรุป/รายงาน
    Published 18/10/2557