เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือถึงการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าใยลักกะตา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผสมผสานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนพร้อมชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนในพื้นที่ปลวกแดง ร่วมกับ นางพัทธกานต์ วัฒนสหโยธิน ผอ.กศน.อำเภอปลวกแดง และนางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี พร้อมด้วยผู้แทนธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้แก่ คุณณัฐนันท์ คงคาหลวง และคุณแก้วหทัย สำโรงทอง ธุรกิจเคมิคอลส์ ณ ห้องประชุมอาคารรัฐสภา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการที่ กศน.อำเภอปลวกแดง ได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกฝ้ายในทุกอำเภอของจังหวัดระยอง ตามแนวทางการส่งเสริมอาชีพในรูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของสำนักงาน กศน.จังหวัดระยอง เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา “ผ้าใยลักกะตา” ที่มีเส้นใยหลักจากใบสับปะรดที่มีมากในพื้นที่นั้น ในวันนี้ทางเอสซีจี ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนต่าง ๆ อยู่แล้ว มีความยินดีที่จะสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สำหรับผลิตภัณฑ์เส้นใยลักกะตาของ กศน.อำเภอปลวกแดง โดยเบื้องต้นจะนำเศษพลาสติกที่เสียหรือใช้งานไม่ได้แล้ว (waste) อาทิ แผ่นป้ายไวนิล เป็นต้น มาใช้ผสมกับเส้นใยสับปะรด เพื่อเพิ่มความแวววาว สวยงามให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าลักกะตามากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดปริมาณขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้แล้ว รวมทั้งจะช่วยในเรื่องของออกแบบ การสร้างสรรค์หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ และช่องทางการขายอย่างครบวงจร โดยยังคงอัตลักษณ์และความโดดเด่นในแต่ละพื้นที่ไว้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ในอนาคตจะร่วมกันดำเนินโครงการ “ชุมชนแยกขยะ” เพื่อสอนการแยกขยะแก่ประชาชน ที่จะสามารถนำขยะมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ เกิดประโยชน์จากการใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการสร้างรายได้ภายในครัวเรือน และที่สำคัญทางเอสซีจี พร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องการพัฒนาด้านการผลิต วางแผน ตลอดจนการออกแบบ (design) ผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัย โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์จากขยะหรือของเหลือใช้ เพื่อจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และร่วมรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง ในฐานะที่กำกับดูแลการจัดการศึกษาเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพของ กศน.ต้องขอแสดงความชื่นชมในแนวคิดที่ดีของเอสซีจี และยินดีที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างการเรียนรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกชุมชน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้แทนเอสซีจีได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ช่วยส่งเสริมให้กับอำเภอปลวกแดงมาด้วย อาทิ กระเป๋าแผ่นป้ายไวนิล สละอบแห้ง กล้วยกรอบแก้ว ทองม้วนพริ้มรส เป็นต้น
จันทนา เชียงทอง: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
วรรณธิรา น้อยศิริ: ภาพถ่าย
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
18/2/2564