เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2564 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดอบรมหลักสูตรการจัดการศึกษาต่อเนื่อง กศน.อำเภอนาดี กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จำนวน 70 ชั่วโมง) ในโครงการความร่วมมือการผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาดี โดยมีนางขนิษฐา ป้องชาติ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอนาดี นายสำราญ คงมี สาธารณสุขอำเภอนาดี นายประดิษฐ์ รักพร้า ปลัดอำเภอนาดี วิทยากร และบุคลากร กศน.อำเภอนาดี เข้าร่วม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ในโครงการความร่วมมือการผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ถือว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นของ กศน. ภายใต้ความร่วมมือจากเครือข่ายอย่างกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมศักยภาพการทำงานของ กศน. ในการดูแลผู้สูงอายุ ที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะมีทั้งภาวะความเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สุขภาพจิต ภาวะสมองเสื่อมที่อาจจะส่งผลต่อโรคซึมเศร้า และแม้ว่าจะเป็นการอบรมเฉพาะในพื้นที่เล็ก ๆ อย่างอำเภอนาดี ที่มีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมเพียง 20 คน แต่ถือว่าเปี่ยมไปด้วยคุณภาพของการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่
“มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะเชื่อว่าทุกการทำงานหากได้รับความร่วมมือก็จะก่อเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือของเครือข่ายการทำงาน Good Partnership ครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับนโยบาย กศน.WOW เกิดประโยชน์ต่อการทำงานอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็สอดรับกับวัฒนธรรมความผูกพันธ์ในแบบเรา ๆ แบบของคนนาดี ปราจีนบุรี ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ขอให้บุคลากร กศน.แสดงบทบาทและร่วมสนับสนุนงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ พร้อมติดตาม ประเมินผล เพื่อต่อยอดงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินการทำงาน อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามโครงการ การตั้งกลุ่มสมาชิก การส่งงาน การจัดทำสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบคิวอาร์โค้ด การให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น อาทิ หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน แหล่งความรู้เรื่องโควิด วัคซีน กฎระเบียบที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต ตลอดจนประสานการทำงานกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายอำเภอนาดี ในการสนับสนุนชี้แนะให้การดำเนินโครงการสามารถเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ขอแสดงความขอบคุณทุกเสียงสะท้อนและความคิดเห็น จากผู้เข้ารับการอบรมและวิทยากร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นข้อมูลจากการทำงานจริงของผู้ปฏิบัติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานและต่อยอดการดำเนินโครงการ ซึ่งคาดหวังว่า จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับประชาชนและพื้นที่ โดยเฉพาะผู้สูงวัยอย่างแท้จริง และไม่ว่าจะดำเนินโครงการหรือจัดกิจกรรมอะไร ขอย้ำถึงความปลอดภัยของประชาชน และขอเชิญชวนทุกคนให้ตระหนักและระแวดระวังในการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
ท้ายสุด ขอนำความห่วงใยและความตั้งใจทำงานของรัฐบาลมายังทุกคน และในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ แม้จะไม่ได้ลงพื้นที่ แต่ได้มีการสื่อสารและติดตามงานกับเครือข่ายโดยตลอด รวมทั้งงานในหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้กำกับดูแลความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการจัดการศึกษาในรูปแบบ 5ON ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างสมดุลระหว่างโรงเรียน นักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครอง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
โดยมีสรุปการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
– กศน.อำเภอนาดี ได้ช่วยสนับสนุนการทำงาน การจัดตารางอบรม ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และการดูแลในระหว่างชั่วโมงการอบรม
– แม้จะเคยผ่านการอบรมดูแลผู้สูงอายุมาก่อน แต่การอบรมในครั้งนี้ ทำให้ได้ทบทวนความรู้เก่าและเพิ่มพูนความรู้ใหม่ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ต่อการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
– เข้าร่วมอบรมเพราะต้องการเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เนื่องจากได้รับความรู้ความเอาใจใส่จากทีมงานสาธารณสุข วิทยากร ตลอดจนทีมงานผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ การจำแนกแยกแยะโรค การฝึกทักษะกายภาพบำบัดและารออกกำลังกาย เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ทั้งนี้ การอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ในโครงการความร่วมมือการผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ของ กศน.อำเภอนาดี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 มีผู้เข้าร่วมอบรมจากตำบลนาดีและตำบลสำพันตา จำนวน 20 คน มีเป้าหมายให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าในการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนเทคนิคการดูแลและการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมรองรับระบบการดูแลสุขภาพและการปรับตัวของผู้สูงอายุในท้องถิ่น ชุมชน รวมถึงการรับรู้ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ดี ถือว่าสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนผู้ว่างงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องกลับมาอยู่ถิ่นฐานของตนเอง เพื่อนำหลักสูตรไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ตนเอง ทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี มีสุขภาพจิตที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
27/6/2564