นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและบรรยายพิเศษ ในโครงการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาหน่วยลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน ระดับสถานศึกษา ของจังหวัดนครปฐม โดยมี นายชยชัย แสงอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นางกษมา ป้องกัน ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 ผู้บริหารสถานศึกษา วิทยากรแกนนำ ตลอดจนผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้าร่วมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ หอประชุมทวารวดีศรีพระประโทณ โรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทาน “หลักสูตรลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน” เพื่อให้ลูกเสือทุกเหล่าทุกกอง ได้มีโอกาสถวายงานด้านจิตอาสาพระราชทาน ในการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งได้พระราชทาน “ตราสัญลักษณ์ลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความร่วมใจ ถวายงานด้านจิตอาสาพระราชทานของเหล่าลูกเสือ และบุคลากรทางการลูกเสือต่อ “โครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการ การฝึกอบรมบ่มเพาะแก่ลูกเสือและเนตรนารีในสถานศึกษา
ครูโอ๊ะขอฝากผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทุกท่าน ซึ่งเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมเรียนรู้งานด้านจิตอาสาด้วยความภาคภูมิใจ และเมื่อผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว นอกจากจะต้องนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่ลูก ๆ นักเรียน และดำเนินการให้มีการตั้งหน่วยลูกเสือพระราชทานในสถานศึกษาแล้ว ขอให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก ๆ นักเรียน ทั้งในการครองตน แต่งกายเครื่องแบบลูกเสือด้วยความเรียบร้อย ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ ตลอดจนครองงานด้วยหัวใจ มีความสุขในการเป็นจิตอาสา ไม่ว่าจะทำเพื่อถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือทำเพื่อสังคมก็ตาม
ในโอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในรายวิชา “เทคนิคการเป็นวิทยากร และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ สำหรับจัดการเรียนรู้และจัดกิจกรรมลูกเสือจิตอาสาพระราชทานในสถานศึกษา ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ รายการโทรทัศน์ เสียงตามสาย รวมทั้งสื่อออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูป ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก ไลน์ วีวาวีดิโอ เป็นต้น ที่สามารถรองรับการเรียนในหลายรูปแบบ ทั้งออนไลน์ ออนไซด์ และแบบผสมผสาน
ซึ่งหลักการสำคัญของสื่อประชาสัมพันธ์ คือการใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสร้างสื่อ โดยใช้ความรู้ หลักการ และแนวคิดที่ถูกต้องรอบคอบ สำหรับจัดกิจกรรมเชิงบวกด้วยความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจง่าย สามารถจูงใจและมีความน่าสนใจเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น โดยเฉพาะการนำภาพถ่ายหรือสื่อต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ บุคคลหรือกิจกรรมที่มีอยู่จริงในชุมชน ที่จะเกิดความเชื่อมโยงการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียน ช่วยสร้างความผูกพันและความภาคภูมิใจในการเรียนรู้ด้านการเป็นจิตอาสาด้วยความสมัครใจ