เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2564 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดสรรเงินแก่ผู้ปกครองและนักเรียน ในโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษาเอกชนเขตกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสมิทธิพงษ์ เขตบางขุนเทียน และโรงเรียนกรพิทักษ์ศึกษา เขตหนองแขม กรุงเทพฯ โดยมีนายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) และคณะ ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาและการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แก่ผู้ปกครองและนักเรียนตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสถานศึกษาทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ให้สามารถนำไปใช้ตามความจำเป็น เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า และอื่น ๆ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนเอกชนในระบบที่อยู่ในการกำกับดูแลของครูโอ๊ะ มีจำนวนรวม 3,991 แห่ง ขณะนี้ทาง สช. ได้จัดสรรงบประมาณผ่านสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 71 จังหวัด สำนักงานเอกชนจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งตรงไปยังโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว โดยได้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนไปแล้ว 1.44 ล้านคน วงเงินประมาณ 2,887 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.63 จากผู้เรียนที่มีสิทธิ์ทั้งหมด 2.13 ล้านคน ในวันนี้จึงต้องการมาติดตามการจ่ายเงินเยียวยาให้ถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนเต็มจำนวน ด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและเป้าหมายของโครงการ
โดย รมช.ศึกษาธิการ ได้ตรวจเยี่ยมการจ่ายเงินเยียวยาด้วยเงินสดที่โรงเรียนสมิทธิพงษ์ เขตบางขุนเทียน เป็นจุดแรก ซึ่งมีนางพะนอ ปริกสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ถือว่าดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้ปกครองทยอยมารับเงินจำนวน 2,000 บาท ที่บรรจุไว้เป็นสัดส่วนในซองใส มองเห็นชัดเจน และช่วยลดการสัมผัส มีระบบคัดกรองตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค พร้อมจุดรับส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว โดยโรงเรียนได้จัดสลับวันรับจ่ายเงินในแต่ละระดับชั้น และประชาสัมพันธ์แก่ผู้ปกครองอย่างทั่วถึง เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมและลดความแออัดในการรวมตัวกัน
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ เดินทางต่อไปยังโรงเรียนกรพิทักษ์ศึกษา เขตหนองแขม ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา 4,617 คน บริหารงานโดยนายทองสุข กรพิทักษ์ ผู้รับใบอนุญาต และนางนิสากร ชัชวาลพาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งได้มีการวางแผนและปรับระบบการจัดการเรียนการสอน “ยกโรงเรียนไปไว้ที่บ้าน” พร้อมทั้งการบริหารจัดการ และดูแลนักเรียน รองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อปี 2563 ด้วยระบบไดร์ฟทรู (Drive Thru) เป็นการให้ผู้ปกครองขับรถเข้าไปรับบริการในโรงเรียนโดยไม่ลงจากรถ ไม่ว่าจะเป็น การชำระค่าเทอมในปีการศึกษา 2563 การติดต่อประสานงาน การแจกหนังสือเรียนและเอกสาร ตลอดจนนมโรงเรียน และการรับส่งนักเรียน ที่มีการพัฒนาแอพลิเคชันเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลนักเรียน และเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง บนพื้นฐานของความปลอดภัย
“ต้องขอแสดงความชื่นชมการดำเนินงานจ่ายเงินเยียวยาด้วยเงินสดของทั้งสองโรงเรียน ทั้งโรงเรียนสมิทธิพงษ์ ซึ่งในวันนี้เป็นการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ปกครองและนักเรียนชั้นอนุบาล แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนเพียง 563 คน แต่ก็เตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการติดต่อประสานงานเอกสารจากผู้ปกครองอย่างครบถ้วน จัดสลับวันการรับเงิน และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ช่วยสร้างความสบายใจให้กับพ่อแม่และผู้ปกครองที่เดินทางมารับเงินให้กับลูก ๆ นักเรียนชั้นอนุบาลที่มีจำนวน 116 คน
ส่วนโรงเรียนกรพิทักษ์ศึกษา ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการปรับตัวดูแลนักเรียนสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำระบบไดร์ฟทรู (Drive Thru) ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการดูแลนักเรียนอยู่แล้ว มาบริการจ่ายเงินตามโครงการตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนเป็นต้นมา ส่งผลให้โรงเรียนสามารถจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ปกครองและนักเรียนได้อย่างรวดเร็ว โดยจ่ายเงินเป็นเงินสด 2,000 บาท แก่นักเรียนแล้วจำนวน 2,948 คน (ร้อยละ 64) ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 4,617 คน พร้อมจัดส่งเอกสารประกอบการเรียนในคราวเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนในรูปแบบ On-Site หรือ On-line ให้เป็นไปตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
นอกจากนี้ จากการรายงานการดำเนินงานฯ ยังพบว่า โรงเรียนได้ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยหลักคิด “ยกโรงเรียนไปไว้ที่บ้าน” ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Education ในห้องเรียนรวมที่มีครูเป็นผู้ดำเนินการ 4 คนต่อ 1 ห้องเรียน ได้แก่ ครูผู้สอน ครูผู้ดูแลกล้องสำหรับการเรียนทดลอง ให้นักเรียนได้เห็นภาพชัดเจน ครูผู้ควบคุมคลื่นความถี่และสัญญาณให้มีความเสถียร และครูที่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวก เมื่อเรียนตามกำหนดเวลา จะสลับไปยังห้อง Q&A ให้นักเรียนโต้ตอบและซักถามจากครูหลังการเรียน สร้างปฏิสัมพันธ์แบบ Two-way communication เสมือนกับได้เรียนในห้องเรียนจริง โดยครูจะคอยรับฟัง ตอบข้อสงสัย และช่วยแนะนำได้ทันที ซึ่งเป็นวิธีที่ที่ผู้ปกครองพึงพอใจ เพราะลดความกังวลใจและคลายความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี
ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณโรงเรียน ที่วางระบบจัดการศึกษาและบริหารจัดการภายในโรงเรียนในหลายมิติ ทั้งอาคารเรียน สถานที่ ที่มีความสดใสเหมือนโลกจินตนาการ ระบบการเรียนออนไลน์ “ยกโรงเรียนไปไว้ที่บ้าน” ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและทำให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข การช่วยลดภาระผู้ปกครองโดยคืนเงินค่าอาหารและค่ารับส่งทั้งหมด (100%) ทั้งยังลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นอีกร้อยละ 20 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 รวมทั้งจัดระบบ Bubble and Seal เพื่อดูแลครูและบุคลากรในโรงเรียน โดยสนับสนุนอาหารการกินในทุกมื้อ ส่วนครูเองก็เสียสละค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 เพื่อสร้างความปลอดภัยร่วมกัน
ทั้งนี้ ในภาพรวมแล้วต้องขอแสดงความชื่นชมทั้งสองโรงเรียน และขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหาร คณะครู ไปจนถึงผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน ส่วนในเรื่องของวัคซีนสำหรับผู้เรียน 12-18 ปี ที่จะได้รับการจัดสรรตามแผนการกระจายวัคซีน โดยจะต้องรอกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะใช้รูปแบบใดในการฉีด ซึ่งครูโอ๊ะได้มอบให้รองเลขาธิการ กช.สำรวจและติดตามรับฟังเสียงสะท้อนของโรงเรียนเอกชน เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และสอดคล้องกับบริบทในแต่ละโรงเรียน อาทิ รูปแบบการฉีดในโรงเรียนใหญ่ที่มีนักเรียนมาก ความพร้อมของสถานที่สังเกตอาการหลังฉีด เป็นต้น เพราะรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ เน้นความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นวรัตน์ รามสูต :สรุป/เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข :ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์สร.ศธ. :รายงาน
7/9/2564