ครูพี่โอ๊ะ รวมพลัง “กวินทร์เกียรติ-ธฤติ” ชี้แนะการบูรณาการทำงานในระดับพื้นที่ กับว่าที่ ศธจ.-รอง ศธจ. พร้อมยกเป็นความหวังสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝากกล้าคิด-กล้าเสนอ-กล้าทำอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาการศึกษาทุกจังหวัดทั่วไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2563 เวลา 9.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ “นโยบายการศึกษา : นวัตกรรมการบริหารการศึกษา” ในโครงการพัฒนาผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 137 คน ณ ห้องพุทธรักษา อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) โดยมีนายวีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการ ศธ. นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการ กช. นายสัมนาการณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการ สคบศ. และบุคลากร ศธ. ให้การต้อนรับและเข้าร่วม

 width=  width=

 

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัด ทั้ง 137 คน และเพื่อให้การมาของรัฐมนตรีครูพี่โอ๊ะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเพิ่มประสิทธิผลภาพประสิทธิผลของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด จึงได้เชิญวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ที่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหาร เป็นที่รู้จักกันดีและคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษา ก็คือ นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. และ นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการ กช. ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงานระดับพื้นที่ตามสไตล์ของครูโอ๊ะ ที่ให้ความสำคัญกับการรับฟังปัญหาการทำงานของบุคลากรทุกระดับ ทุกสังกัด เพราะไม่ว่าจะอยู่หน่วยงานใด ถือว่าเราทุกคนมีหัวใจเดียวกัน หัวใจแห่งการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งถือเป็นงานของเราทุกคน ที่จะช่วยสร้างพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 width=  width=  width=  width=

ซึ่งทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อน และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่สำคัญคือต้องการให้เกิดการประสานและบูรณาการความร่วมมือในการทำงานอย่างสมดุล กลมกลืน ในทุกภาคส่วนทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ทุกแห่งในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำงานที่ผ่านมาตนได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการทำงานของบุคลากร ทั้งระดับผู้บริหารไปจนถึงครูและบุคลากรตัวน้อย ๆ ของ 3 หน่วยงานในความรับผิดชอบดูแล ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และประมวลสู่นโยบายในการดำเนินงาน ทั้งการขับเคลื่อนด้วยนโยบาย กศน. WOW 6G (Good Teacher, Good Place Best Check-in, Good Activities, Good Partnership, Good Innovation, Good Learning Centre) การผลักดันการเพิ่มอัตราข้าราชการครู กศน. กว่า 1,700 อัตรา จนสำเร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อมาเป็นข้าราชการ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กศน. รวมทั้งการสร้างงาน สร้างอาชีพ ต่อยอด ผลิตภัณฑ์ กศน.พรีเมี่ยม ภายใต้แบรนด์ ONIE โดยนำเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสอดรับกับกระแสความต้องการของโลกในยุคดิจิทัล รวมทั้งการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะ Google classroom ที่เป็นหนึ่งในวิธีที่ครู กศน.นำมาใช้สำหรับจัดการเรียนรู้มาเป็นเวลานาน และก่อเกิดประโยชน์สูงสุดชัดเจน ในช่วงที่ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบพบกลุ่มได้ ทั้งยังจัดทำสื่อการเรียนรู้และส่งเสริมหลักสูตรอาชีพในระบบออนไลน์ด้วย

และจากการลงพื้นที่รับฟังปัญหา รวมทั้งเสียงสะท้อนจากผู้เรียน กศน. และประชาชน จากเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 5 ภูมิภาค พบว่า เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปรับปรุงหลักสูตร กศน. ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ให้มีความทันสมัย สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมได้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกับผู้บริหาร กศน.ส่วนกลาง ที่จะออกแบบหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นกับบริบทของผู้เรียนและพื้นที่ พร้อม ๆ กับการปรับหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการก้าวทันโลก ลักษณะประชากร เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 width=  width=

ในส่วนของการจัดการศึกษาเอกชน ได้พยายามส่งเสริมการพัฒนาในทุกมิติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การจัดการศึกษาเอกชน ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กและเยาวชน และผู้สนใจเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันเพิ่มค่ารักษาพยาบาลจาก 100,000 บาท เป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา, การส่งเสริมพัฒนาภาษาที่ 2 และ 3 ในสถานศึกษาเอกชน, การจัดแข่งขันทักษะวิชาการ อาชีพ ตามความถนัดของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชัน “สช. On Mobile” ภายใต้โครงการความร่วมมือกับ Good partnership ในการจัดทำเครื่องมือเพื่อการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ ให้กับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สช. ผ่านรูปแบบโมบายแอปพลิเคชัน เพื่อสร้างเครื่องมือสำหรับภารกิจของ สช.ในยุค 4.0 และกำลังจะก้าวไปสู่ 5.0 ในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งการบริหารงานกองทุนสงเคราะห์ (ครูเอกชน) เพื่อบริหารการเงินที่จะเกิดดอกผลกลับสู่สมาชิกอย่างมีธรรมาภิบาลต่อไป

และในการพัฒนาค่ายลูกเสือทั่วประเทศ ให้มีความทันสมัย เพื่อประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมลูกเสือของโรงเรียนและชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่, การต่อยอดโครงการฝึกอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ สู่การประกอบอาชีพได้จริง และการปรับปรุงหลักสูตรลูกเสือ เพื่อให้เป็นกระบวนการสร้างระเบียบวินัย ความรักความสามัคคี และทักษะชีวิต บนพื้นฐานของความเข้าใจ เรียนสนุก สร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุข สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

 width=  width=

“ด้วยสไตล์ของรัฐมนตรีกนกวรรณจะเน้นการทำงานเป็นทีม ในวันนี้จึงปรับรูปแบบเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถามตอบประเด็นต่าง ๆ โดยรองเลขาธิการ กพฐ. ผู้ผ่านการทำงานในหลายตำแหน่งตั้งแต่รากหญ้าจนถึงระดับผู้บริหาร ที่เป็นผู้รู้ลึกรู้จริงในสภาพปัญหาในพื้นที่ และรองเลขาธิการ กช. ซึ่งเป็นผู้คลุกคลีและเติบโตมาจากแวดวง กศน. ซึ่งจะสามารถนำประสบการณ์ทำงานในพื้นที่จริง มาช่วยเสริมเติมเต็มการทำงานของทั้ง กศน. และ สช. ได้เป็นอย่างดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องการสื่อให้เห็นว่า แม้จะไม่ได้กำกับดูแล สพฐ. แต่การทำงานจะไม่มีการแบ่งแท่งแบ่งหน่วยงาน แต่จะเน้นมิติเนื้องานและประเด็นของงานที่จะทำ

และเชื่อเหลือเกินว่า การแลกเปลี่ยนในวันนี้จะทำให้เกิดมุมมองและแนวทางการทำงาน การบูรณาการงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติจริงของผู้มีประสบการณ์ทั้งสองท่าน จะก่อเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย สร้างความอยู่ดี กินดี เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประชาชนคนไทยไปด้วยกัน และหากมีสิ่งใดให้ช่วยขับเคลื่อนหรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ให้การทำงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างดีที่สุด พร้อมขอฝากความหวังไว้กับทุกคน ในฐานะเป็นคนสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการและประเทศไทย และไม่ว่าจะไปทำงานที่ใด ตำแหน่งใด ขอให้มีส่วนร่วมในการนำเสนอสิ่งดี ๆ และความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ เพื่อร่วมพัฒนาเด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

 width=

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
17/9/2563