เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตอบกระทู้ถามทั่วไปของ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เรื่อง การเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ อาคารรัฐสภา เกียกกาย กรุงเทพฯ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมและยินดี ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แสดงความห่วงใยถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และให้ความสนใจในการบริหารจัดการอัตรากำลังตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษา อื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ของสำนักงานการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอ ในจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนการศึกษาเอกชนในจังหวัด ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะนี้สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอ ในจังหวัดชายแดนใต้ มีพนักงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงาน จำนวน 258 คน
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานราชการมีความก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพ โดยได้ดำเนินการต่อสัญญาจ้างพนักงานราชการ ที่มีผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับดีขึ้นไป 2 ครั้งติดกัน ซึ่งมีอายุสัญญาจ้างคราวละไม่เกิน 4 ปี ตามกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการรอบที่ 5 (ปีงบประมาณ 2564-2567) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพนักงานราชการ พร้อม ๆ กับในปี 2563 สช.ได้ดำเนินการสอบคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่งของสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอในชายแดนใต้ จำนวน 25 คน เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อเลื่อนค่าตอบแทนพนักงานราชการไม่เกินอัตราร้อยละ 6 ของฐานค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานของทุกปี และพนักงานราชการยังได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ 2554 อาทิ สิทธิการลา ค่าตอบแทนระหว่างการลา ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ค่าใช้จ่ายการเดินทางไปราชการ และค่าเบี้ยประชุม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงานราชการให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ส่วนการเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการของสำนักงานการศึกษาเอกชน ในจังหวัดชายแดนใต้ นั้น ศธ.ได้มีแนวทางในการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่ว่างของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 132 อัตรา มากำหนดเป็นตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค. (2) ในสังกัด สช. พร้อมจัดสรรอัตราให้สำนักงานการศึกษาเอกชน ในจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 35 อัตรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังต่อไป
“ตั้งแต่รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่รับฟังความต้องการ ปัญหา และอุปสรรค ของผู้บริหาร ครู และบุคลากร ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาและผู้ส่วนเกี่ยวข้อง ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ได้แก่ กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล โดยหนึ่งในภารกิจครั้งนี้ คือการลงพื้นที่รับฟังปัญหาการจัดการศึกษาเอกชนจากผู้บริหาร ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งสอดคล้องกับความห่วงใยของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ที่ได้ตั้งกระทู้ถาม ถึงความก้าวหน้าของข้าราชการและบุคลากรในสังกัด สช. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจัดการศึกษาเอกชน หลายประการ ทั้ง การจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา รู้สึกไม่มีความมั่นคงในอาชีพ และอัตรากำลังไม่เพียงพอต่อภาระงาน โดยได้มอบให้ สช.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจังต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการบริหารจัดการอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ให้มีกำลังคนที่เพียงพอและจะหาแนวทางสนับสนุนความมั่นคงและความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และนโยบายด้านการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21
ท้ายสุดนี้ สำหรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนออย่างรอบคอบอย่างผู้รู้ที่แท้จริง ในนามกระทรวงศึกษาธิการขอรับประเด็นต่าง ๆ ไว้เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการทำงาน ที่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานในเรื่องของอัตรากำลังให้ครอบคลุม ทั่วถึง ตลอดจนก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมายของการจัดการศึกษา และต่อการพัฒนาประเทศ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือขอขอบคุณท่านสมาชิกอันทรงเกียรติที่ตั้งคำถามอันเป็นประโยชน์ และเปิดโอกาสให้กระทรวงศึกษาธิการ และ สช. ได้ชี้แจงถึงแนวทางสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและความมั่นคงของผู้ปฏิบัติงานต่อไป” นางกนกวรรณ กล่าว
จันทนา เชียงทอง: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
11/11/2563