เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 เวลา 9.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภช ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี พร้อมรับฟังความต้องการและข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีคุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ประธานมูลนิธิช่วยการศึกษาเด็กพิเศษและด้อยโอกาส นางอัมพาพันธุ์ เจียรวนนท์ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียน คณะผู้บริหารโรงเรียน ตลอดจนนายวินัย ยงเขตรการณ์ รองศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี นางนวลอนงค์ นวลเขียว ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดปทุมธานี ผู้บริหารท้องถิ่น และคณะครู ให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ด้วยสไตล์การทำงานของตน ไม่ว่าจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาที่ใดก็ตาม จะเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอความต้องการหรือข้อเสนอแนะ ที่ภาครัฐจะช่วยเสริมเติมเต็มให้ได้ และหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน นั่นก็คือแนวทางทลายข้อจำกัดในการทำงานด้านการศึกษา ที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สูงขึ้น ซึ่งจากการรายงานต้องยอมรับว่า โรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภชฯ สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยจะเห็นได้จากรางวัลการประกวดแข่งขันและการจัดการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการสร้างความรู้และทักษะที่จะทำให้นักเรียนพิการช่วยเหลือตัวเองได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้โรงเรียนได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง ในการส่งบุตรหลานมาเรียนเป็นจำนวนมากจากหลากหลายจังหวัด
ในวันนี้มีความยินดีที่ได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ เพื่อนำสู่การพัฒนาและปรับปรุงที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการขาดแคลนครู ด้านคณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ดนตรี และนาฏศิลป์ ที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ในส่วนของเงินอุดหนุนรายบุคคล ก็ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อพิจารณาปรับอัตราให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับโรงเรียนการศึกษาพิเศษของ สพฐ. รวมทั้งประเด็นการวินิจฉัยความบกพร่อง สำหรับจดทะเบียนคนพิการที่ใช้ประกอบการเข้าเรียนนั้น ขอให้มีการหารือกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เพื่อรวบรวมข้อมูลโครงการและเครือข่ายการทำงานในภาพรวมของจังหวัด เพื่อช่วยขับเคลื่อนการทำงานภายใต้ความเข้าใจอันดีต่อกัน ในส่วนของคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดปทุมธานี ให้มีการรวบรวมประเด็นปัญหาที่ชัดเจนและครอบคลุมความต้องการเพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
“โดยส่วนตัวมีความเห็นด้วยกับปรัชญาการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน และเชื่อเสมอว่า เด็ก ๆ เหล่านี้ ไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการการยอมรับจากสังคมทั้งด้านการศึกษา การทำงาน และการอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ ทั้งนี้ รัฐมนตรีคนนี้ขอแสดงความนับถือในหัวใจและศรัทธาของความเป็นครูของทุกคน ในการมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อดูแลและฝึกฝนเด็กพิการที่เข้ามาเรียนในหลากหลายรูปแบบและลักษณะของความบกพร่อง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องอาศัยทั้งกำลังแรงกาย แรงใจ และสติปัญญา พร้อมจิตใจอันเป็นกุศลมากกว่าครูทั่วไป และขอเป็นอีกหนึ่งกำลังแรงใจในการทำหน้าที่ครู ในการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ให้ดูแลตัวเองได้ พร้อมร่วมสร้าง ร่วมเติมเต็มเด็กพิการ ให้เติบโตเป็นกำลังคนที่ดี มีความสามารถ ทำงานเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ในอนาคต” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นางสาวศิริพร เพชรเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า โรงเรียนมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่สร้างกำลังใจให้กับผู้บริหารและครูทุกคน ที่จะทุ่มเทความรัก ความศรัทธา และการทำหน้าที่ครูด้วยหัวใจ เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างมีความสุข
โรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภช ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโรงเรียนเอกชนการศึกษาพิเศษ ประเภทสามัญศึกษา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 โดยจัดการศึกษาระดับอนุบาล-ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งแบบประจำและไป-กลับ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ดาวน์ซินโดรม เด็กด้อยโอกาส และนักเรียนพิการที่มีความบกพร่องด้านอื่นเรียนรวม โดยปัจจุบันมีนักเรียนรวม 106 คน มีคุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ เป็นประธานมูลนิธิช่วยการศึกษาเด็กพิเศษและด้อยโอกาส มีนางอัมพาพันธุ์ เจียรวนนท์ เป็นผู้รับใบอนุญาต และมีครูและบุคลากร รวม 23 คน
โรงเรียนมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมน้อมนำพระราชกระแสรับสั่ง “ช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้” สู่ปรัชญาการทำงานของโรงเรียน “พัฒนาสติปัญญา พัฒนามารยาท การช่วยเหลือตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม” โดยสร้างความพร้อมและพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ไปสู่เป้าหมายในการเติบโตอย่างมีความรู้ คิดเป็น ทำเป็น ได้รับการฝึกฝนทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน ตลอดจนทักษะชีวิตเพื่อการดำรงชีวิต และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมีผลงานที่น่าภาคภูมิใจในหลายประการ อาทิ นักเรียนสามารถสอบเข้าเรียนต่อทั้งในสายสามัญ สายอาชีพ และบางส่วนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และมีงานทำ, รางวัลคะแนนเฉลี่ยรวม 5 กลุ่มสาระการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET และรางวัลเชิดชูเกียรติ “เหรียญทองแดง” ชั้น ป.6 เป็นต้น รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ การให้ความรู้เรื่องเครื่องช่วยฟังดิจิทัล จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), ความรู้ด้านการวาดภาพระบายสี จากสมาคมการ์ตูนไทย, คลื่น FM ส่งเสริมทักษะการพูด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
9/3/2563