edusiamrath@gmail.com
ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการมีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหาในการปฏิรูปการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานเสมอภาคอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา หรือโรงเรียนในท้องถิ่น โดยให้สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละพื้นที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยแบ่งเครือข่ายอุดมศึกษา เป็น 9 ภูมิภาค วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(STC)เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อหวังพัฒนาสถานศึกษา หรือโรงเรียนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ซึ่งในปีการศึกษา 2559 STC ได้ขยายการพัฒนาสถานศึกษาหรือโรงเรียนในท้องถิ่นมากถึง 10 โรงเรียน
อาจารย์จรวยพร นิลโบราณ หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการพูดถึงโครงการนี้ว่า STC เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษามาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยอยู่ในเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่าง มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)เป็นแม่ข่าย ซึ่งโรงเรียนแห่งแรกที่ STC ลงไปช่วยเหลือ คือรร.วัดยางงาม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี สังกัด สพป.ราชบุรี เขต1 เหตุผลที่เลือกพัฒนาที่นี่เนื่องจาก STC มีสนามบินโพธาราม ที่ราชบุรี จึงเลือกโรงเรียนนี้ก่อน โดยการนำทีมอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติ ของ STC ไปจัดกิจกรรมการสื่อสารภาษาอังกฤษใช้ในชีวิตประจำวัน จนทำให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างมาก จนมีทักษะและเกิดความกล้าแสดงออกที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษ
“เราดีใจมาก ที่โรงเรียนต่อยอดกิจกรรมสร้างเป็นโมเดลการสื่อสารภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันของนักเรียน แล้วนำเสนอเพื่อประเมินผลงานในระดับตำบล จนทำให้ได้รับรางวัลโรงเรียนดีประจำตำบล แบบยั่งยืน”
และในปีการศึกษา 2559 ทาง STC ยังคงเป็นพี่เลี้ยงต่อเนื่องกับ รร.วัดยางงาม และเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง ได้แก่ รร.วัดท่าพระ รร.วัดบางเสาธง รร.วัดโพธิ์เรียง รร.วัดดีดวด รร.วัดประดู่ในทรงธรรม รร.ฤทธิณรงค์รอน รร.ธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ รร.วัดประดู่ฉิมพลี และรร.วัดเจ้ามูล รวม 10 โรงเรียน
“ด้วยจำนวนโรงเรียนที่มากขึ้น ในปีนี้เราจึงแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ช่วงแรก มี.ค.พ.ค. 60 ระยะที่ 2 มิ.ย.-ส.ค. 60 และระยะที่ 3 พ.ย. 60 ถึง ก.พ.61 โดยจะเป็นพี่เลี้ยงใน 7 กิจกรรม คือ1.กิจกรรมยกระดับความรู้ภาษาต่างประเทศ 2.กิจกรรมยกระดับความรู้ภาษาไทย 3.การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน (โตไปไม่โกง รู้เท่าทันสื่อ ไม่เป็นเหยื่อของสังคม) 4.กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มการเรียนรู้ 5.กิจกรรมพัฒนาครู 6.การจัดการเรียนการสอนสะเต็มในสถานศึกษา และ7.อื่นๆ ตามความต้องการของโรงเรียน”
อาจารย์จรวยพร กล่าวและว่า แต่ละมหาวิทยาลัยที่เป็นพี่เลี้ยง จะต้องมีกิจกรรมพัฒนาในแต่ละโรงเรียนอย่างน้อย 2 ใน 7 กิจกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมยกระดับความรู้ภาษาต่างประเทศ และการพัฒนาครูด้วยรูปแบบการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาซึ่งเรื่องภาษานี้เรามีความชำนาญ เพราะมีวิทยาลัยนานาชาติ มาเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม ส่วนการพัฒนาครู ก็ได้คณะเทคโนโลยีศูนย์คอมพิวเตอร์ และคณะศิลปศาสตร์ มาร่วมบูรณาการการสอนสะเต็ม ร่วมกันทำคู่มือครู และยังมีภาคเอกชนที่สนับสนุนอุปกรณ์การสอนด้วย
“ในระยะแรกเราขับเคลื่อนให้กับ รร.ธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ก่อนโดยจัดอบรมพัฒนาครูทั้งโรงเรียน ในการสร้างโมเดลของการจัดกิจกรรม จากเดิมที่แต่ละวิชาต่างคนต่างเรียน เราก็แนะนำให้เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ อย่างโค รงการนักเรียนกำลังทำอยู่นั้น คือ การพัฒนาอาหารในชุมชน เช่น ขนมกุยช่ายตลาดพลู ขนมหวานตลาดพลู สินค้าดีมาก แต่ไม่มีการพัฒนาก็ให้นักเรียนดูว่าจะออกแบบสร้างสรรค์แพ็กเกจจิ้ง ทำการตลาดอย่างไร โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนโรงเรียนนี้ชำนาญ
…ส่วนของโรงเรียนอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบกลับว่าต้องการให้ STC เข้าไปช่วยในเรื่องอะไร เพื่อจะได้เข้าไปช่วยกันพัฒนาได้อย่างตรงเป้าหมาย” อาจารย์จรวยพร กล่าวทิ้งท้าย–จบ–
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ