การศึกษาแห่งศตวรรษใหม่ ห้องเรียนต้นแบบที่เด็กไทยควรมี

          ทีมเดลินิวส์ 38 article@dailynews.co.th
          การท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง การเรียนรู้แต่ในตำรา หรือการเรียนรู้แต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว คงใช้ไม่ได้กับการเรียนรู้ของเด็กไทยในโลกยุคดิจิตอล
          แต่การศึกษาแบบไหนล่ะที่เด็กไทยควรมี???ลลนาก้องธรนินทร์ แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อดีตนางสาวไทยและนักแสดงอาชีพ เห็นว่าการศึกษาไม่ควรวัดผลความรู้เพียงจากตำรา แต่ต้องกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม และออกไปค้นหาคำตอบ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบแรงผลักดันจากภายในที่จะพาเด็ก ๆ ให้เดินตามความฝันของพวกเขา
          “สมัยมัธยม เราเรียนมาแบบเน้นการท่องจำเพื่อเอาไปสอบวัดผล จนกระทั่งวันหนึ่งที่เจ๊ยบรู้เป้าหมายของตัวเองว่าอยากเป็นหมอเพื่อจะได้ช่วยเหลือคน จึงทุ่มเทพยายามจนสอบเข้าเรียนได้ และได้ค้นพบว่าการเรียนหมอทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนแบบเดิม ๆ โดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถพึ่งความรู้จากแค่ในตำราเท่านั้น การจะเข้าใจศาสตร์แขนงนี้อย่างลึกซึ้ง ต้องลงมือทำ ออกไปทำวิจัย ศึกษาจากเคสคนไข้จริง ซึ่งเจี๊ยบมองว่าเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริง และความรู้นั้นจะอยู่ติดตัวเราไปตลอด ห้องเรียนยุคใหม่ของเจี๊ยบต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนรู้ให้ได้ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิด ตั้งคำถาม และออกไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบยั่งยืน”ดร.การดี เลียวไพโรจน์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาธุรกิจด้านการระดมทุนผ่านเทคโนโลยี ผู้อยู่แถวหน้าของเทรนด์แห่งโลกธุรกรรมบนแพลตฟอร์มดิจิตอล กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า ห้องเรียนที่ไม่เปิดโอกาสให้ถามคำถามเพื่อค้นหาคำตอบที่ต่างไป จะหล่อหลอมให้เด็กมุ่งเป้าหาคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว ซึ่งไม่เพียงพอแล้วต่อการใช้ชีวิตในโลกแห่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไวแบบก้าวกระโดด
          “ด้วยหน้าที่การงานในปัจจุบัน ทำให้เราเข้าใจว่า ภาคธุรกิจ มองหาบุคลากรที่มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงเป็นคำถามให้กลับมามองการศึกษาของเราว่าได้เตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานและสามารถแข่งขันระดับนานาชาติได้มากน้อยแค่ไหน ในความคิดของอ้อ การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ควรเป็นเพียงเรื่องการอ่านออกเขียนได้อีกต่อไป แต่ควรเน้นใช้กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ให้เด็กมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะเรื่องการตั้งคำถาม การคิดวิเคราะห์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ STEM ที่ประยุกต์ใช้ความรู้จากหมวดต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี มาแก้ปัญหาได้จริงในการเรียน การทำงานและการดำเนินชีวิต ซึ่งสำคัญมาก”
          ปัจจุบันได้มีการปรับรูปแบบห้องเรียน ปรับวิธีการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ และโครงการ “Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต”  ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556
          โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ ที่ช่วยสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม และนำเอาเทคโนโลยีอุปกรณ์ดิจิตอลจากซัมซุงมาเสริมในการเรียนการสอนแบบสหสาขาวิชา ในสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่เอื้อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อสื่อสารแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองค้นพบ และสร้างแรงบันดาลใจและประโยชน์ให้คนรอบข้างได้
          ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลงานระดับนานาชาติพร้อมกับรางวัลการันตีจำนวนมาก และอดีตนักเรียนทุนรัฐบาล ผู้มีผลการเรียน เป็นอันดับหนึ่งของคณะวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ดีใจที่ได้เห็นภาคเอกชนมาลงมือพัฒนาเรื่อง การศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากจะสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีที่เสริมให้การเรียนรู้สนุกแล้ว โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่จุดประกายความอยากรู้ อยากค้นหาคำตอบในตัวเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเรียนรู้ ไม่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น แต่นิสัยรักการเรียนรู้นี้จะทำให้เด็กนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ที่สำคัญ โครงการนี้ยังช่วยพัฒนาคุณครู ผู้เป็นแม่พิมพ์ในการสร้างอนาคตของชาติ ให้เข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่และสามารถถ่ายทอดให้กับเยาวชนแบบรุ่นต่อรุ่น เป็นการกระจายโอกาสอย่างถาวร ซึ่งต่าย มองว่าเมื่อเรารวมเอาเทคโนโลยีซึ่งเป็นหน้าต่างสู่ความเจริญทางมันสมอง กับการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตเข้าด้วยกันแล้วจะสามารถช่วยยกระดับ และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาบ้านเราได้อย่างเป็นรูปธรรม”
          ปัจจุบันโครงการSamsung Smart Learning Center มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 47 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนได้รับประโยชน์แล้วกว่า 100,000 คน โดยโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนจากซัมซุงในทุกด้านทั้งองค์ความรู้สำหรับพัฒนาครู บุคลากร และเทคโนโลยีสำหรับพัฒนาห้องเรียนให้ทันสมัย โดยในปีนี้มีเป้าหมายที่จะขยายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอีก 3 โรงเรียน และจะมีการอบรมครูและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง.
–จบ–

          –เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 เม.ย. 2561 (กรอบบ่าย)–