การประชุมหัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางใน สป.

                   นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางใน สป. ครั้งที่ ๕/๒๕๕๗  โดยมีนายศุภกร วงศ์ปราชญ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางผานิตย์    มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) เข้าประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น ๒ อาคารราชวัลลภ

               ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ในวันนี้ได้รายงานให้ผู้บริหารของ สป. ได้ทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวทางการทำงานในอนาคต หลังจากมีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้รับทราบถึงข้อมูลตรงกันทั้งแนวนโยบายและการทำงานเร่งด่วนของสป. ที่ได้เสนอไป โดย สป. ได้ลงนามแต่งตั้งศูนย์ประสานงานร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผู้แทนจากทุกองค์กรหลักมาเป็นคณะทำงาน เพื่อให้การทำงานของทุกองค์กรหลักเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นหน่วยประสานงานสายด่วนโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำ ๒๔ ชั่วโมง คอยให้บริการจดประเด็นหรือตอบข้อซักถาม/สงสัย หรือแนวปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการสรุปการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และการเร่งรัดดำเนินงานของ สป. ซึ่งในส่วนนี้ได้มอบหมายแนวทางให้เร่งรัดการดำเนินงานสำหรับ ๔ เดือนข้างหน้า และแผนปฎิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๘ โดยให้ทุกหน่วยงานไปทบทวนและเตรียมจัดลำดับความสำคัญของบประมาณปี ๒๕๕๘ ให้จัดทำโครงการที่ยึดโยงกับการพัฒนาตัวบุคคลเป็นหลักและเป็นการทำงานที่พัฒนาอย่างยั่งยืนตามบทบาทของ สป. ขณะเดียวกันก็ได้เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของปี ๒๕๕๗ ให้เป็นไปตามแผน และได้มีการติดตามการดำเนินงานการใช้จ่ายงบประมาณโดยรวมของ สป. ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเตรียมปรับแผนการดำเนินงานในช่วงต่อไปให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้อง

 นอกจากนั้น ได้พิจารณาเรื่องกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ต้องรับการประเมินของ กพร. และส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมี ๗ ตัวชี้วัด โดยมีการเตรียมพร้อมที่จะเก็บข้อมูลทั้งในเรื่องของคุณภาพ ประสิทธิภาพ การประเมินภายใน เป็นต้น และได้เห็นชอบในเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อพัฒนานโยบายในกลุ่มจังหวัดของสำนักงานศึกษาธิการภาค ๖ จังหวัดราชบุรีและเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลรวมของประเทศ จึงขอให้เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องเด็ก สถานศึกษา หรือครู รวมไปถึงข้อมูลเชิงนโยบาย เช่น อัตราเด็กออกกลางคัน อัตราการเรียนต่อ ผลการประเมินในแต่ละช่วงชั้น เป็นต้น ส่วนสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๑ จังหวัดสงขลา ได้เสนอการพัฒนาการจัดการความรู้หรือการจัดทำบทเรียนออนไลน์สำหรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ของ กศน. สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์  ซึ่งจากการทำวิจัยพบว่าผู้เรียนมีระดับความพึงพอใจถึงร้อยละ ๘๐

************************************

ศศิพิชญ์ /สรุป, กิตติกร/ภาพ

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.