การจัดทำเครื่องมือการวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญของครูอาชีวศึกษา


 


            (๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำเครื่องมือการวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญของครูอาชีวศึกษา” โดยมี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องบงกชรัตน์ ซี โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ


 



 



           ดร.สุภัทร จำปาทอง กล่าวว่า ครู หรือคณาจารย์เป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษา ซึ่งครูส่วนใหญ่มีความรู้ แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยประสบการณ์การทำงานในโรงงานหรือสถานประกอบการเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียน เพื่อสร้างให้เด็กอาชีวะจบมาแล้วสามารถทำงานได้


          “การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ จะมีความสำคัญในการจัดทำกรอบแนวทางการวิจัย และจัดทำเครื่องมือการวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญหรือสมรรถนะของครูอาชีวศึกษา” ดร.สุภัทร กล่าว


           ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการวิจัยในครั้งนี้ มีส่วนเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และได้จัดทำเป็นข้อเสนอบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งการดำเนินงานตามแผนหรือแนวคิดให้เกิดเป็นรูปธรรมต้องมีการลงมือปฏิบัติจริง จึงเกิดเป็นแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาครูอาชีวศึกษาในเรื่องต่างๆ และส่วนหนึ่งในการดำเนินการโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้เป็นการออกแบบและจัดทำเครื่องมือการวิจัยฯ เพื่อศึกษาการถอดบทเรียนจากการติดตามและประเมินผลโครงการส่งครูอาชีวศึกษาฝึกในสถานประกอบการนำร่อง ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ อกรอ.อศ. ทั้ง ๕ สาขาอาชีพ คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงาน เครื่องยนต์เล็กอเนกประสงค์ และแม่พิมพ์  นอกจากนี้ การสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงานจำเป็นต้องมีแรงผลักดัน หรือแรงหนุนในการพัฒนาการทำงานจากรัฐบาล


            ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กล่าวว่า การร่วมกันในการวางกรอบแนวคิดการวิจัยติดตามและประเมินผลโครงการฯ จะเน้นประเด็นหลักที่พิจารณาร่วมกัน คือ ๑) หลักสูตรอบรม และ ๒) กระบวนการนำหลักสูตรไปใช้ โดยเชื่อมโยงกัน และมีหลักการ คือ เน้นการพัฒนาครูอาชีวศึกษาที่เป็นครูประจำการ และพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนใน ๕ กลุ่มสาขาอาชีพดังกล่าว เพื่อให้ได้มาซึ่งวิชาชีพและวิชาครู จึงจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นหลักดังกล่าวประกอบการพิจารณาร่วมกัน สร้างเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยฯ


          การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยมีการแบ่งกลุ่มจัดทำเครื่องมือการวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญของครูอาชีวศึกษา ตลอดจนการนำเสนอเครื่องมือการวิจัยฯ การเก็บข้อมูลการวิจัยฯ เพื่อได้กรอบแนวทางและจัดทำเครื่องมือการวิจัยฯ ที่ชัดเจน พร้อมทั้งนำไปดำเนินการตามขั้นตอนการวิจัยต่อไป.


ที่มา : ข่าว สกศ