การจัดการเรียนสำหรับเด็กออทิสติก

เด็กออทิสติก หลายคนจะสามารถผ่านพ้นสภาพปัญหาและภาวะแห่งความยากลำบากในการพัฒนาตนเองให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เท่าเทียมกับคนอื่นได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยส่งเสริมจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นอกจากความเข้มแข็งและเอาใจใส่จากครอบครัวแล้ว ยังมาจากครูและโรงเรียน เนื่องจากเป็นสังคมภายนอกแห่งแรกที่เด็กออทิสติกได้เรียนรู้

นับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้โรงเรียนที่มีความพร้อม สามารถรับเด็กพิการเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ ส่งผลให้เด็กออทิสติกซึ่งจัดเป็นกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีโอกาสเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนปกติได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเรียนร่วมที่ผ่านมาเด็กออทิสติกมักถูกมองว่าเป็นตัวป่วนและสร้างปัญหากับนักเรียนคนอื่นๆ ในชั้นเรียน เนื่องจากในประเทศไทยยังขาดแคลนข้อมูลและความเข้าใจจากสังคมในการดูแลเด็กกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม

เข้าใจปัญหา







 


 


ออทิสติก หรือ ออทิซึ่ม (Autism) เป็นภาวะความผิดปกติทางพัฒนาการอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านภาษา การสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และพฤติกรรม เป็นผลมาจากความผิดปกติทางหน้าที่ของระบบประสาทบางส่วน ในเด็กปกติ 10,000 คน จะพบเด็กออทิสติกประมาณ 4 คน และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 4 เท่า เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะอาการและระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น บางคนมีอาการเก็บเนื้อเก็บตัว ชอบพูดคนเดียว แต่บางคนจะพูดหรือตั้งคำถามไม่ยอมหยุด บ้างก็มีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ ไม่สามารถบอกให้ครูทราบถึงความต้องการร้อนหนาว หิวอิ่ม ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอน เป็นต้น

ความแตกต่างเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความเข้าใจจากครูผู้สอนและบุคลากรฝ่ายต่างๆ ในโรงเรียนที่เปิดรับเด็กออทิสติกเข้าเรียนร่วม ผศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ นักจิตวิทยาโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การนำเด็กออทิสติกมาเรียนร่วมกับนักเรียนปกตินับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ถ้าหากต้องการจัดห้องเรียนให้ประสบความสำเร็จสูงสุดต่อเด็กออทิสติกและเด็กปกติ การเตรียมตัวบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนจึงควรทำเป็นอันดับแรก โดยควรประชุมครูทุกระดับชั้น บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูบรรณารักษ์ ครูฝ่ายปกครอง ตลอดจนผู้ปกครองของนักเรียนปกติ เพื่อให้มีความเข้าใจไปทางเดียวกัน และมีเจตคติที่ดีต่อนักเรียนที่เป็นออทิสติก

ขณะเดียวกัน โรงเรียนยังควรประสานงานกับโรงพยาบาลและผู้ปกครองของนักเรียนออทิสติก ควรมีการประชุมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง อภิปรายพัฒนาการและปัญหาของนักเรียนแต่ละคน เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นแล้ว ครูที่ปฏิบัติงานสอนนักเรียนออทิสติกยังควรเข้ารับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีการศึกษาละ 1 ครั้งด้วย

การเรียนร่วมของเด็กออทิสติก







 


 


มีร์นา รีมัส ผู้ให้คำปรึกษาการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนรัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “Autism and schoolbase programming” ว่า การเปิดโอกาสให้เด็กออทิสติกได้เรียนร่วมในชั้นเรียนปกติจะทำให้เด็กได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง มีการเลียนแบบ เล่น ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับสติปัญญาและพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กออทิสติกที่ส่วนใหญ่มีความบกพร่อง
ในเรื่องของจินตนาการ การคิดแบบนามธรรม และการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคม

การพิจารณาคัดเลือกเด็กออทิสติกเข้าเรียนร่วมนั้น ครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กควรประสานงานกับโรงพยาบาลที่เด็กเข้ารับการรักษาหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเพื่อประเมินความพร้อมของเด็ก โดยส่วนใหญ่ต้องคำนึงว่าเด็กต้องไม่มีภาวะปัญญาอ่อนแทรกซ้อน มีความพร้อมด้านการเรียนและพฤติกรรมในระดับที่พอจะเรียนได้

ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มเด็กออทิสติกเป็น 3 ประเภท ตามระดับอาการเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือและพัฒนาการจัดการศึกษาให้เหมาะสมตามศักยภาพและความสามารถของเด็ก ได้แก่

กลุ่มที่มีความสามารถสูง กลุ่มนี้จะปรากฏอาการเพียงเล็กน้อย สามารถใช้การจัดการศึกษาเหมือนเด็กปกติ เพียงแต่ครูควรขจัดข้อบกพร่องที่มีและกระตุ้นความสามารถของเด็กให้เต็มที่ เสริมทักษะทางสังคม กิจกรรมกลุ่ม เป็นต้น เช่น เด็กมีอาการสมาธิสั้น ไม่ฟังครูสอน สามารถแก้ไขได้โดยการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจให้เด็กทำแล้ววางเงื่อนไขว่าเมื่อทำเสร็จจึงสามารถทำกิจกรรมอื่นได้

กลุ่มที่มีความสามารถระดับปานกลาง กลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องได้รับการช่วยเหลือเข้มข้นขึ้น โดยอาจต้องมีครูผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงคอยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เพราะต้องใช้เวลาในการสอนเสริมทักษะทางสังคมและแก้ไขข้อบกพร่องอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ จะเห็นได้ว่าเด็กกลุ่มนี้เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติจะมีอายุมากกว่าเพื่อนๆ อยู่บ้าง

กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องรุนแรง เด็กกลุ่มนี้จะสามารถเรียนรู้ได้หากได้รับการช่วยเหลือและกระตุ้นพัฒนาการพื้นฐานทุกด้าน หลักสูตรการเรียนการสอนทางวิชาการจะไม่เน้นมากนักเพราะต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดทำการสอนเสริมทักษะทางสังคม และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่ปิดกั้นเด็กในการเรียนรู้

เมื่อพิจารณาจำแนกนักเรียนได้ตามเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ครูสามารถนำหลักเกณฑ์มาจัดนักเรียนเข้าชั้นเรียนซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบแตกต่างกันไป อาทิ โรงเรียนอาจจัดให้มีห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กออทิสติกเป็นการเฉพาะในโรงเรียน มีครูประจำชั้นประมาณ 2-3 คนรับผิดชอบการสอน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนออทิสติกสามารถเข้าเรียนร่วมกับนักเรียนปกติได้ในบางวิชา เช่น ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา โดยมีอาจารย์ประจำชั้นติดตามเข้าไปในห้องเรียนปกติเพื่อดูแลนักเรียนให้สามารถทำกิจกรรมตามกลุ่มเพื่อน และไม่รบกวนการเรียนของนักเรียนคนอื่นๆ ตลอดจนการจัดรูปแบบการเรียนร่วมแบบเต็มเวลา โดยจัดนักเรียนออทิสติกเข้าเรียนในห้องเรียนร่วมกับนักเรียนปกติประมาณห้องละ 2-3 คน และมีอาจารย์พิเศษคอยดูแลห้องละ 1 คน

แผนการสอนเฉพาะบุคคล








 


เมื่อครูสามารถพิจารณาข้อโดดเด่น ข้อบกพร่องที่เด็กออทิสติกจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมได้แล้วนั้น สามารถนำมาจัดทำเป็นแผนการสอนรายบุคคล ซึ่งควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรพื้นฐานและหลักสูตรการเรียนรู้ที่เด็กออทิสติกจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาด้วย จากนั้นนำมากำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการ สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะรายบุคคล โดยแผนการสอนรายบุคคลสำหรับนักเรียนออทิสติกนั้นควรพัฒนาจากความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น ครูการศึกษาพิเศษ ครูผู้ช่วยผู้ชำนาญด้านการฝึกพูด ที่ปรึกษา นักจิตวิทยาและตัวนักเรียนเอง ส่วนประกอบจำเป็นในแผนการสอนควรประกอบด้วยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลด้านการเรียนรู้ และแบบประเมินผล ข้อมูลพิเศษที่จะใช้สนับสนุนความต้องการของเด็ก

จุดประสงค์ระยะยาวและระยะสั้นควรสอดคล้องกับหลักสูตรของชั้นเรียนปกติทั่วไป และหลักสูตรเฉพาะบุคคล เช่น การพัฒนาการติดต่อสื่อสาร ระบบประสาทการตอบรับ การเรียงลำดับเหตุการณ์ การเข้าใจและรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม พัฒนาทักษะทางสังคม และวิธีการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่หลากหลาย การควบคุมตนเอง เป็นต้น โดยทำเป็นแผนเพื่อเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนตลอดปีการศึกษา และครูผู้สอนต้องเขียนแผนการสอนประจำวันขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้

ห้องเรียนร่วมเด็กออทิสติก

ฝ่ายการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กออทิสติกและเด็กพิการทางการสื่อสารอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยนอร์ท คาร์โรไลนา ให้ความสำคัญกับการออกแบบห้องเรียน โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเรียนการสอน การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในห้องเรียนนั้นอาจกีดขวางและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้พอๆ กัน

สิ่งที่ควรคำนึงในการจัดห้องเรียน ได้แก่ ขนาดของห้องเรียนควรเหมาะสมกับจำนวนของนักเรียน โดยแบ่งพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมกลุ่มและเดี่ยว มีพื้นที่สำหรับการเล่น สำหรับเด็กเล็กอาจมีห้องเตรียมความพร้อมเป็นสถานที่สำหรับการเรียนตัวต่อตัว หรือใช้แยกนักเรียนที่มีอาการก้าวร้าวหรือควบคุมตนเองไม่ได้จากคนอื่นในชั้น นอกจากนั้นแล้วห้องเรียนไม่ควรเป็นห้องที่มีทางออกหลายทาง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กที่ชอบวิ่งหนีออกนอกห้อง ในส่วนพื้นที่สำหรับทำงานหรือทำกิจกรรมไม่ควรอยู่ใกล้กระจกหรือหน้าต่าง แต่ควรอยู่ใกล้กับชั้นหรือกล่องเก็บของเพื่อที่จะสามารถหยิบจับอุปกรณ์ได้ง่าย








 


ตำแหน่งของห้องน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ กล่าวคือ ไม่ควรอยู่ไกลจนเกินไปเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาระหว่างการเดินทางจากห้องเรียนไปห้องน้ำ เพราะเด็กออทิสติกบางคนจะต้องใช้เวลาในการพักบ่อยกว่าเด็กปกติ ส่วนหลอดไฟควรจัดหาหลอดไฟที่มีคุณภาพ ไม่กะพริบ เพราะเด็กออทิสติกบางคนจะทนต่อแสงกะพริบไม่ได้ ทั้งนี้ ครูควรจัดสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนโดยพยายามลดสิ่งเร้าต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการเรียนรู้ เช่น ถ้าเด็กชอบจ้องมองพัดลมที่หมุน ก็ควรจัดหาห้องเรียนที่ไม่ต้องใช้พัดลม การนำพรมมาปูไว้ในบริเวณที่พักผ่อนเพื่อกำหนดขอบเขตให้เด็กทราบว่าจะเล่นได้เฉพาะบริเวณที่มีพรม หรือการนำชั้นวางหนังสือแบ่งเขตเป็นห้องปฏิบัติงานได้ เป็นต้น

ด้านสื่อการเรียนการสอนนั้น Indiana Resource Center for Autism แนะนำว่า ครูควรจัดหาสื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก โดยต้องคำนึงว่าสื่อเหล่านั้นจะไม่กระทบกระเทือนการเรียนรู้ของเด็กคนอื่นๆ ในห้อง สื่อการเรียนที่เหมาะกับเด็กออทิสติกควรใช้สื่อที่เด็กสามารถจับต้องและมองเห็นได้ เพราะเด็กออทิสติกสวนใหญ่จะมีปัญหาในการจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม จึงควรใช้รูปภาพหรือตัวหนังสือมากกว่าคำพูด เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการรับฟัง นอกจากนั้นแล้วครูยังควรเลือกใช้สื่อที่มีความหลากหลาย เช่น สื่อภาพประกอบเสียง เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็กอย่างได้ผล

กิจกรรมต่างๆ ที่เด็กออทิสติกจะได้เรียนรู้ในห้องเรียน ระยะแรกอาจเป็นกิจกรรมเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเด็ก ก่อนจะพัฒนาสู่การสอนทักษะเบื้องต้นทางสังคมและเนื้อหาวิชาการต่อไป การเรียนรู้เรื่องการเรียงลำดับเหตุการณ์ การใช้ชีวิตประจำวัน การช่วยเหลือและดูแลตนเอง เป็นเรื่องที่ครูสามารถสอนร่วมไปกับการเรียนในห้องได้เพราะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคนในห้องเรียน

นอกจากนั้น แล้วครูควรหาโอกาสพาผู้เรียนไปทำความรู้จักกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เช่น การเรียนภาคสนาม การเรียนรู้ในชุมชน และเปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมหรือช่วยเหลืองานต่างๆ ของโรงเรียนบ้างตามสมควร

การประเมินผล








 


ผศ.ดร.ดารณี กล่าวต่อว่า กระบวนการประเมินผลการเรียนสำหรับนักเรียนออทิสติกที่เรียนร่วมในห้องเรียนปกติจะใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย และเหมาะสมกับระดับพัฒนาการของผู้เรียนเช่นเดียวกับนักเรียนปกติ โดยผลการประเมินที่ได้จะนำมาวิเคราะห์ปัญหาและความก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคน เพื่อที่ผู้สอนจะสามารถค้นพบจุดเด่นและจุดด้อย อันจะนำไปสู่การเติมเต็มตามศักยภาพของเด็กต่อไป

สำหรับนักเรียนในห้องการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กออทิสติกเป็นการเฉพาะ นักเรียนจะได้รับการประเมินตามแผนการศึกษารายบุคคลหรือตามเนื้อหาที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ สำหรับแบบทดสอบที่ใช้ประเมินจะเหมือนกับแบบประเมินของเด็กปกติ แต่จะปรับวิธีการทดสอบให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มเพื่อนระดับชั้นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาส่งนักเรียนเข้าเรียนร่วมต่อไป

นอกจากการประเมินด้านวิชาการ การประเมินด้านพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ครูผู้สอนต้องสังเกตนักเรียนอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เมื่อพบปัญหาต้องรีบแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาทันที หากไม่ได้ผลสามารถปรึกษากับนักจิตวิทยาโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันวางแผนและปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จนสามารถแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้ลดน้อยลงได้ ทั้งนี้การจัดห้องเรียนและการวางแผนการเรียนการสอนสำหรับเด็กออทิสติกจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างของเด็กแต่ละคนเป็นสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยความตั้งใจจริงจากครูผู้สอนและบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและไม่เป็นภาระแก่สังคมต่อไปในอนาคต


ที่มาข้อมูล : ศุภัจฉรีย์ จันทนา ใน สานปฏิรูป ฉบับที่ 58 เดือนมกราคม 2546