Source – เว็บไซต์ข่าวสด (Th)
Wednesday, July 23, 2008 04:31
สดจากราชมงคล
ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเป็นอยู่และการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันยังมีประชาชนใน อีกหลายพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารและชนบทห่างไกล ซึ่งหากมีกระแสไฟฟ้าใช้ส่วนใหญ่มาจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซล
ในยุคน้ำมันแพงเช่นนี้ หากผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซล ราคาต่อหน่วยในการผลิตไฟฟ้าจึงสูงขึ้นมาก ดังนั้นการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
เหตุนี้คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทค โนโลยีราชมงคล ธัญ บุรี โดย ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพลังงานทดแทนกังหันลมผลิตไฟฟ้า จึงได้ออก แบบและผลิตกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าขึ้นมา
ในเบื้องต้นมีอยู่ 2 รุ่นด้วยกัน คือ ขนาด 400 วัตต์ และ 1,000 วัตต์ โดยได้มีการติดตั้งไว้เพื่อการผลิตไฟฟ้าใช้แล้วในหลายพื้นที่ อาทิ ลำตะคอง จ.นครราชสีมา, สระเก็บน้ำถนนพระราม 9 กรุง เทพฯ, เกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ฯลฯ
ดร.วิรชัยกล่าวด้วยว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ โดยเฉพาะจากพลังงานลมนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการนำพลังงานทด แทนมาใช้ สำหรับการติดตั้งกังหันลมบนเกาะล้านเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิท ยาลัยและเมืองพัทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมันดีเซลในเครื่องปั่นไฟ และภายหลังติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวนกว่า 45 ชุด บนพื้นที่ดังกล่าว พบว่าสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลในเครื่องปั่นไฟลงได้ถึง 20% ทีเดียว
“ที่เกาะล้านจะเรียกว่าฟาร์มกังหันลมก็ได้ เพราะติดตั้งไว้จำนวนมาก โดยได้ออกแบบกังหันให้เหมาะสมกับลักษณะของลมบนเกาะ การออกแบบกังหันลมเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าไม่ใช่ออกแบบเพียงแบบเดียวแล้วจะใช้ได้ในทุกพื้นที่ เพราะลมในแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องออกแบบกังหันลมให้เหมาะสมกับลมในแต่ละพื้นที่จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับประเทศไทยมีความเร็วลมเฉลี่ยต่ำ โดยที่เกาะล้านมีระดับความเร็วลมเฉลี่ยที่ประมาณ 4-5 เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้อยู่ที่ 25-30 กิโลวัตต์ และหากมีลมเฉลี่ยต่อเนื่องประมาณ 10 ช.ม. จะทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณวันละ 200 หน่วยทางไฟฟ้าและลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึงวันละประมาณ 200 ลิตร” ดร.วิรชัยกล่าว
ดร.วิรชัยกล่าวอีกว่า ในอนาคตจะพัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำให้มีกำลังการผลิตเป็น 3,000 วัตต์ และ 5,000 วัตต์/ตัว รวมไปถึงศึกษาวิจัยการนำแรงดันจากน้ำทะเลมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย เพื่อให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงรวมทั้งยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในการใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟได้อีกทางหนึ่ง
ดร.วิรชัย โรยนรินทร์
ดร.วิรชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่สนใจด้านพลังงานทดแทนจากกังหันลม หากไม่สามารถไปชมถึงเกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ได้ ก็สามารถแวะเข้ามาศึกษาต้นแบบได้ที่ อาคารวิจัยประยุกต์ พลังงานลม น้ำ และแสงอาทิตย์ ภายในมหาวิทยาลัยได้ โดยอาคารดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากความร่วมมือในการดำเนินการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำบนเกาะล้าน เมืองพัทยา
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีสถานที่สำหรับทด สอบกังหันลมเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่กำหนดก่อนนำไปติดตั้งบนเกาะ และเพื่อศึกษาวิจัย ทดสอบ ติดตั้งและติดตามผลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์
โดยอาคารแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้สามารถนำพลังงานธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นลม น้ำ และแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาคาร โดยพบว่าอาคารหลังนี้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในอาคารได้ถึง 50% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารทั้งหมด
อย่างไรก็ดีขณะนี้ทางสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือในการศึกษาโครงการสร้างกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกและลดการใช้พลังงาน กับทาง มทร.ธัญบุรี และติดตั้งกังหันลมในสวนสาธารณะของ กทม.ทั้งหมด คาดว่าภายในเดือนส.ค.นี้จะได้ข้อสรุปในการดำเนินการ
ร.ท.อิราวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ได้ศึกษากังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ (Wind Turbine Generation) และทดลองใช้แล้วได้ผลดี จากการศึกษาในเบื้องต้น กทม.จะนำร่องทดลองติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำในสวนลุมพินีก่อน โดยนำร่องติดตั้งกังหันลมไม่เกิน 5 ตัว
“กทม.จะทำให้มีความสวยงามเช่นเดียวกับประเทศเดนมาร์ก แต่จะมีขนาดเล็กกว่าและประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะได้น้อยกว่าของเดนมาร์กประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากพื้นที่ของ กทม.ไม่ได้อยู่ในที่โล่งกว้างเหมือนในต่างประเทศ”
สำหรับกังหันลมที่กทม.จะติดตั้งหนึ่งตัวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 1 กิโลวัตต์ แต่ก็สามารถนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ในโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา และเป็นไฟฟ้าส่องสว่างภายในสวนสาธารณะได้ด้วย
ส่วนงบประมาณในการติดตั้งกังหันลมนั้นจะใช้วงเงินเพียง 300,000-400,000 บาทต่อตัว ซึ่งถือว่าค่อนข้างใช้งบประมาณที่ต่ำมาก เนื่องจาก มทร.ธัญบุรีได้ศึกษาและนำวัสดุที่ราคาถูกมาใช้
ใครที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กลุ่มพลังงานทดแทนกังหันลมผลิตไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12110 โทรศัพท์ 0-2549-3497, 08-9771-4294