‘iPollution’ ระบบแจ้งเตือนหมอกควันไฟป่า

 



     มทร.ธัญบุรี สร้างแอพพลิเคชั่น ระบบแจ้งเตือนหมอกควันไฟป่าชูประเด็นรับรู้ความเคลื่อนไหวหมอกควันที่ทันต่อเหตุการณ์ แก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพคว้ารางวัลสุดยอดแอพพลิเคชั่นด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนานวัตกรรมโมบายแอพพลิเคชั่นภาครัฐประจำปี 2558 โดยมี นายปองพล นิลพฤกษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และนายธนบูรณ์ เกตุวงศ์วิริยะศิษย์เก่าสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี เป็นผู้สร้างสรรค์แอพพลิเคชั่น



 


     อาจารย์ปองพล เล่าว่า จากการเข้าร่วมโครงการประกวดผลงานการพัฒนานวัตกรรมโมบายแอพพลิเคชั่น ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2558 หรือ MEGA2015(Mobile Enterprise d-Government Award 2015) ได้จุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีขึ้นและเริ่มต้นมองปัญหาจากรอบตัวก็พบว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทยถือเป็นปัญหาระดับชาติด้านมลภาวะทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพ การคมนาคมและขนส่ง รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ ซึ่งความรุนแรงของปัญหาโดยทั่วไปปรากฏชัดเจนช่วงหน้าแล้งของทุกปี ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน และยังพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเนื่องจากความแห้งแล้ง ที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของไฟป่า ประกอบกับกระแสการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีการเรียกร้องและออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันหรือมลภาวะทางอากาศอย่างจริงจัง หากมีเทคโนโลยีที่สามารถแจ้งเตือนหมอกควันก่อนที่จะลุกลามเกิดเป็นไฟไหม้ใหญ่โต หรือสามารถระงับเหตุไฟไหม้ได้อย่างทันท่วงที ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีเลยเกิดแนวคิดที่จะสร้างแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนหมอกควันไฟป่าขึ้น ภายใต้ชื่อ iPollution



 


     สำหรับระบบแจ้งเตือนหมอกควันไฟป่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นฮาร์ดแวร์ ประกอบไปด้วย 1.Raspberry Pi 3 Model B นำมาใช้เป็นวงจรหลัก ในการนำค่าต่างๆ จากเซ็นเซอร์เข้าสู่ฐานข้อมูล 2.Dust Sensor เป็นเซ็นเซอร์ที่ใช้สำหรับตรวจจับควันและฝุ่นละอองในอากาศนำมาใช้ในการวัดคุณภาพของอากาศและ GPS Sensor เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของอุปกรณ์ 3.แบตเตอรี่สำหรับเป็นแหล่งเก็บและจ่ายพลังงาน 4.โซล่าเซลล์นำมาใช้สำหรับเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดนี้จะบรรจุในกล่องที่เรียกโดยรวมว่า DCU (Data Control Unit) สำหรับส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลที่เซิร์ฟเวอร์



 


     ส่วนที่สองคือซอฟต์แวร์ประกอบไปด้วย 1.ระบบจัดการฐานข้อมูลโดยใช้โปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล MySQL 2.Web Socket Protocol ใช้เป็นตัวกลางการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์กับฐานข้อมูล 3.Web Service สำหรับการจัดการข้อมูลในฐานข้อมูล และ 4. โมบายแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี Ionic Framework 2 ซึ่งทำให้แอพพลิเคชั่นสามารถทำงานได้หลายแพลตฟอร์ม



 


     “แอพพลิเคชั่น iPollution นี้มี 3 ฟีเจอร์หลัก ฟีเจอร์แรกเป็นข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะหรือมลพิษต่างๆ ฟีเจอร์ที่สองเป็นส่วนของข้อมูลข่าวสาร เป็นส่วนที่แยกออกจากเซ็นเซอร์ ซึ่งหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ป้อนข้อมูลข่าวสารเข้าไป และฟีเจอร์สุดท้ายเป็นส่วนงานสำหรับหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้อง หากเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าหมอกควันที่วัดได้เกินมาตรฐานที่ผู้ใช้งานกำหนดไว้ จะมีการแจ้งเตือนไปที่เจ้าหน้าที่หลัก และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจะส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังผู้เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานดับเพลิง ผู้ควบคุมไฟป่า หรือเจ้าหน้าที่ในเขตนั้นๆ เพื่อให้เข้าไปดำเนินการได้อย่างทันท่วงที รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ในการเตรียมความพร้อม ทำให้ช่วยลดปัญหาหมอกควันหรือสาเหตุการเกิดไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพนายธนบูรณ์ อธิบายเสริม




 


     แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนหมอกควันไฟป่านี้ รองรับการใช้งานทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ iOS ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาตัวต้นแบบ (Prototype) ปั้นผลงานเพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริง และเกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและประชาชน ล่าสุดยังได้รางวัลสุดยอดแอปพลิเคชั่นด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกวดผลงานการพัฒนานวัตกรรมโมบายแอพพลิเคชั่นภาครัฐประจำปี 2558


 


ที่มา : http://www.banmuang.co.th/news/education/56575