ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.
"การประชุมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2561
มุ่งเน้นการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ภายใต้วิสัยทัศน์ของจังหวัดเชียงใหม่
"เชียงใหม่นครแห่งการเรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิต"
โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน
ประกอบกับความร่วมมือและการประสานงานกับหน่วยงานทางการศึกษาและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
นอกจากนี้
มีแนวทางที่จะเร่งแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ทั้งในกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่
และกลุ่มโรงเรียนที่ไม่มีปัญหาการใช้ภาษาไทย
ตลอดจนเร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานในพื้นที่
เพื่อร่วมกันดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมให้บรรลุเป้าหมาย"
ดร.รตนภูมิ โนสุ
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3
"จังหวัดเชียงใหม่มีต้นทุนเดิมด้านการศึกษาที่มีความเข้มแข็ง
เนื่องจากทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ภายใต้การดำเนินงานของภาคีเครือข่ายต่าง
ๆ อาทิ เครือข่ายโรงเรียน เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายผู้ปกครอง
เป็นต้น จึงมีแนวทางในการนำความร่วมมือที่เป็นต้นทุนเดิมเหล่านี้
มาพัฒนาต่อยอดสู่การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น 1 ใน 6
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561
ขณะนี้ได้ดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าในหลายส่วน
ทั้งการรับฟังการชี้แจงนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
การประชุมภาคีเครือข่ายและคัดเลือกผู้แทนในคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การประชุมคณะทำงานการขับเคลื่อนนโยบาย เป็นต้น
โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการหลอมรวมนวัตกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่
เพื่อนำนวัตกรรมเหล่านั้นมาจัดกลุ่มนวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
การแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กลุ่มโรงเรียนที่นักเรียนไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่,
การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กลุ่มโรงเรียนที่นักเรียนไม่มีปัญหาการใช้ภาษาไทย,
การพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ, การพัฒนาทักษะสัมมาชีพ
และนวัตกรรมการศึกษาเฉพาะทาง
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2562
จะเร่งสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบรายละเอียด
พร้อมทั้งประกาศรับสมัครโรงเรียนที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการตามกลุ่มนวัตกรรมการศึกษา
เพื่อให้สามารถจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้
โดยจะมีการนิเทศและติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้วย
ในส่วนของแผนการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปี 2563
คาดว่าจะนำนวัตกรรมการศึกษาที่เกิดขึ้นใหม่มาจัดกลุ่มนวัตกรรม
พร้อมทั้งขยายผลโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการไปยังพื้นที่อื่นในจังหวัดเชียงใหม่อย่างทั่วถึง
เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนในปี 2564
จะมีการประมวลผลในภาพรวมว่าจังหวัดเชียงใหม่มีนวัตกรรมการศึกษาด้านใดบ้าง
มีสิ่งใดที่เพิ่มขึ้นและลดลง
รวมทั้งมีทิศทางการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในห้วงต่อไปอย่างไรบ้าง"
นายสินอาจ ลำพูนพงศ์
ผู้ทรงคุณวุฒิภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา
"จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ
แบ่งการบริหารงานเป็น 25 อำเภอ มีสถานศึกษา 1,727 แห่ง ใน 18 สังกัด
และมีประชากรวัยเรียน 460,000 คน
ทำให้มีความหลากหลายทั้งในด้านพื้นที่และชาติพันธุ์ กล่าวคือ
มีทั้งพื้นที่สูง พื้นที่ทุรกันดาร และพื้นที่เมือง
อีกทั้งประชากรก็มีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์และพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ในด้านคุณภาพการศึกษา
แม้ว่าจังหวัดเชียงใหม่จะมีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับสากลหลายแห่ง
แต่ก็ยังมีสถานศึกษาอีกจำนวนมากที่ยังต้องได้รับการพัฒนา
เพื่อให้พลเมืองของจังหวัดเชียงใหม่มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้
มีสัมมาชีพ ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง
แสวงสัมมาชีพ โดยการจัดกลุ่มพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 5 กลุ่ม
จะรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ
เพื่อที่ทุกภาคส่วนจะได้พิจารณาร่วมกันและนำมาเติมเต็มในสิ่งที่สถานศึกษายังขาดแคลนหรือต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป"
นายกิตติ์ธเนศ พันธ์ภานุฉัตร ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่
"การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
ใช้กลไกการวิจัยเป็นฐาน
ประกอบกับความร่วมมือของหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่และภาคีเครือข่าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะยุทธศาสตร์การศึกษาระดับอำเภอที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
โดยให้แต่ละอำเภอเป็น Geobase Command Center
เพื่อเข้าไปดูแลการศึกษาในพื้นที่อย่างแท้จริง
โดยมีฐานข้อมูลที่ตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษา
เพื่อสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
สามารถค้นหาความถนัดของตนเองและนำมาพัฒนาได้อย่างตรงจุด
จากนั้นนำศักยภาพไปพัฒนาคนรอบข้างและสังคม
นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมการศึกษาโลก"
ด.ญ. พัณณิตา ธาราการะเกด นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านพุย อำเภอฮอด
จังหวัดเชียงใหม่
"ตั้งแต่ไปโรงเรียนวันแรกก็ไม่ชอบเรียนหนังสือเพราะกลัวครู
แต่อยู่มาวันหนึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนก็พาไปเข้าห้องเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบทวิภาษา
ที่สอนทั้งภาษาถิ่นและภาษาไทย จึงทำให้ไม่กลัวครู วางใจในครู
และรู้สึกอบอุ่น ทำให้ชอบและสนุกกับการเรียนมากขึ้น
เพราะได้เรียนในภาษาของตนเอง ได้เจอเพื่อน ๆ ด้วย ดีใจที่ได้ไปโรงเรียน
จึงอยากให้ทางผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนงบประมาณในการจ้างครูถิ่น เพื่อที่น้อง
ๆ รุ่นหลังจะได้เรียนแบบทวิภาษา ผลการเรียนก็จะดียิ่งขึ้น"
นายณรงค์ ลุมมา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย
"โรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย จัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
โดยจัดการเรียนการสอนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
ให้เด็กมีความรู้สึกว่าอยู่โรงเรียนแล้วมีความสุข ทำโรงเรียนให้เป็นบ้าน
ทำบ้านให้เป็นโรงเรียน พร้อมทั้งสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกคน
ตลอดจนจัดการเรียนการสอนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่"






















อนึ่ง
ในการประชุมครั้งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
ได้เยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าการจัดการศึกษาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
เช่น
-
แนวทางการสอนภาษาไทยโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์
(ทวิ/พหุภาษา)
-
นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Montessori โรงเรียนทรายทองราษฎร์อุทิศ
-
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนพื้นที่อำเภออมก๋อยและแม่แจ่ม
ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-
การจัดการศึกษากลุ่มโรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร อ่างขางโมเดล (Angkhang
Model)
-
สะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพเชิงพาณิชย์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่
-
การบริหารจัดการการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Narong Model : Nurse
Adjustment Relax Organization Normal และ Goal)
สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวม โรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย
-
การเรียนรู้แบบบูรณาการตามแนวทางสะเต็มศึกษาหน่วยการเรียนรู้ Active
Learningบ้านอุ๊ยขาดน้ำ (ความดันและหลักแบร์นูลี) เป็นต้น





Written by
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter
นวรัตน์ รามสูต
Editor
บัลลังก์ โรหิตเสถียร