
รัฐมนตรีว่าการกระทวงศึกษาธิการ ไม่นิ่งนอนใจกรณีผลการจัดอันดับความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษ ประจำปี 2023 ที่เผยว่าประเทศไทยได้คะแนนน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งข้อเท็จจริงคือกลุ่มผู้ทดสอบดังกล่าวกว่า 800 คน ไม่สามารถการันตีได้ถึงการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยทั้งประเทศ และ ศธ.พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านการศึกษาตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ
30 พฤศจิกายน 2566 /พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากกรณีที่สถาบันการศึกษาภาษาอังกฤษแห่งหนึ่ง เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษ ประจำปี 2023 ซึ่งเป็นการวัดคะแนนการทดสอบจากการวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษในแต่ละช่วงวัย ได้จัดอันดับทั้งหมด 113 ประเทศทั่วโลก ผลการสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของผู้ใหญ่ (อายุเฉลี่ย 26-30 ปี) จำนวนผู้เข้าสอบ 836 คน ปี 2023 ประเทศไทยได้คะแนนเป็นอันดับที่ 101 โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 416 คะแนน ซึ่งค่าเฉลี่ยระดับโลก อยู่ที่ 502 คะแนน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์
ศธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจในการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ สู่การมีงานทำ จะดำเนินการตั้งคณะทำงานโดยมอบให้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ร่วมกับ 4 หน่วยงานหลักของ ศธ. และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาภาษาอังกฤษให้สมบูรณ์ขึ้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นหลักในการดำเนินการเรื่องหลักสูตรและผลิตสื่อการสอนให้ตอบรับนโยบาย “Anywhere Anytime” เพื่อให้ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จะดำเนินการสอนผ่านระบบออนไลน์และการสอนในที่ตั้งของสถานศึกษาด้วย
รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าวพบว่าผู้ที่เข้าทดสอบมีอายุเกิน 20 ปี เป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน ซึ่งเมื่อศึกษาจบแล้วและมีความต้องการหรือมีความจำเป็นที่จะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศหรือไปทำงานต่างประเทศ ต้องทดสอบ TOEFL – TOEIC ให้ผ่านมาตรฐาน แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่ทดสอบไม่ผ่าน จึงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมในสถาบันกวดวิชาหรือศึกษาผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าว และมีประมาณ 800 กว่าคน ที่มีผลการประเมินที่ถือว่าต่ำของสถาบันที่ประเมิน แต่ถ้าดูในหลักการ การทดสอบวัดความสามารถภาษาอังกฤษของไทยเราจะใช้มาตรฐาน CEFR ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วย 6 ระดับ คือ A1 A2 , B1 B2 และ C1 C2
“การวัดคะแนนการทดสอบจากการวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษดังกล่าว ถึงจะเป็นการวัดความสามารถภาษาอังกฤษของกลุ่มคนไทยเพียง 836 คน ที่ไปเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษเพิ่มเติมกับสถาบันต่าง ๆ เพื่อใช้ผลคะแนนในการเรียนต่อหรือไปทำงานต่างประเทศ แต่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาษาอังกฤษของไทย อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ศธ.จะพร้อมช่วยยกระดับการศึกษาตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลได้อย่างมีคุณภาพ” รมว.ศธ. กล่าว
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ศธ.ได้ประกาศใช้มาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐาน CEFR ในการวัดระดับเชิงสมรรถนะของผู้เรียน ทั้ง 4 ทักษะ คือการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เช่นเดียวกับประเทศอื่น ซึ่งทั้งครูและบุคลากรรวมถึงนักเรียนมีผลการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นทุกปี ที่ผ่านมาพบว่าสามารถเพิ่มระดับจาก A2 ไป B1 เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนที่ถูกพัฒนาจนถึงระดับ C2 ซึ่งถือว่า เป็นระดับที่สูงมากเช่นกัน
อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ ศธ. ดำเนินการจะสามารถยกระดับกรอบของ CEFR ที่ดีและเหมาะกับการจัดการเรียนการสอน ผ่านระบบเชื่อมโยงที่มีเป้าหมายชัดเจนตามวิสัยทัศน์ของ รมว.ศธ. อย่างจริงจัง เราพร้อมและสามารถที่จะเดินไปสู่การวัดผลในสถาบันต่าง ๆ และในอนาคตเชื่อมั่นว่าอาจขยับมาอยู่อันดับที่ 1 – 10 ก็เป็นไปได้




