มังคุดต้านเบาหวาน-ลดอักเสบ

 src=

ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ พิสูจน์ยืนยันสรรพคุณของมังคุด-ราชินีไม้ผล

ภาพประกอบข่าว

 

นักโภชนาการทดลองกับเซลล์มนุษย์ในห้องแล็บ ยืนยันเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน-ลดอักเสบปูทางปรุงยาสมุนไพร ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดผลการศึกษาสารแซนโธนที่พบในเปลือกและเนื้อมังคุดว่า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาสมุนไพรต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และรักษาโรคเบาหวาน ทดแทนยาราคาแพงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากผลสำรวจพบคนไทยเสียค่ารักษาโรคเบาหวานกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท

 “ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงเป็นโรคแทรกซ้อน อย่างโรคอ้วน ภาวะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ไขมันในช่องท้อง ยิ่งทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ประกอบกับภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา” นักโภชนาการ กล่าว

 สารออกฤทธิ์ต้านอักเสบในมังคุดเคยมีงานวิจัยมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่เคยมีใครศึกษาลงลึกถึงการนำไปใช้  ดร.เอกราชจึงเริ่มศึกษาศักยภาพของสารในการยับยั้งกลไกการอักเสบและกลไกการดื้อต่ออินซูลินในชั้นไขมัน ตลอดจนกลไกการดูดซึมสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย

 งานวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การประเมินความสามารถของร่างกายในการดูดซึมสารแซนโธนไปใช้งาน ด้วยการจำลองระบบการย่อย โดยนำเซลล์ลำไส้มนุษย์มาศึกษากระบวนการดูดซึม ผลวิจัยพบว่าสารแซนโธนมีความเสถียร สามารถคงอยู่ในระบบย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี และการดูดซึมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากรับประทานมังคุดในมื้ออาหารที่มีไขมันร่วมอยู่ด้วย

 สำหรับการศึกษาในส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาผลการต้านอินซูลิน โดยนำเซลล์ไขมันผู้ป่วยโรคอ้วนมาทำการทดลอง โดยเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ เพื่อดูว่าสามารถยับยั้งอินซูลินได้จริงหรือไม่ ผลปรากฏว่าสารแซนโธนมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนตัวร้ายที่ก่อให้เกิดการอักเสบ และดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

 “การศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาด้านโภชนาการระดับโมเลกุล ถึงกลไกการยับยั้งการอักเสบในระดับเซลล์ การค้นพบดังกล่าวเปิดโอกาสพัฒนามังคุดเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งการพัฒนาเป็นยาได้นั้นจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในระดับคลินิก การวิจัยในคน เพื่อยืนยันผลต่อไป” เจ้าของผลงานวิจัย กล่าว

 อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการทานมังคุดเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน ผลงานวิจัยบอกว่าสารแซนโธนในเนื้อมังคุดพบในปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับเปลือกมังคุด หากจะทานเนื้ออาจต้องทานเป็น 10ลูก แนะนำให้ทานน้ำมังคุดสกัดเข้มข้นที่มีส่วนผสมของเปลือกมังคุดด้วย ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า

แหล่งที่มาของข้อมูล  : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ