รมว.ศึกษาธิการ พบ
เพื่อ
กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และครู กทม. โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.ต.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมชี้แจงนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยมีนางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าราชการ กทม. รวมทั้งคณะผู้บริหาร คณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. ตลอดจนข้าราชการครูสังกัด กทม.
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อเริ่มเข้ามาทำงานรัฐมนตรี พบปัญหาด้านการศึกษาจำนวนมากและหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นครูไม่ครบชั้น, โรงเรียนไม่ผ่านการประเมินคุณภาพสถานศึกษา, บัณฑิตตกงาน, ทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำ, นักเรียนใช้เวลาเรียนสูงที่สุดในโลก (ข้อมูลจาก UNESCO) เป็นต้น ซึ่งแต่ละปัญหาก็มีความพัวพันและเชื่อมโยงกัน จึงได้นำหลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เข้ามาช่วยจำแนกและจัดกลุ่มปัญหาในแต่ละด้าน ที่จะเชื่อมโยงไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดต่อไป
เมื่อจัดกลุ่มปัญหาออกมาแล้ว จึงนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 คือ 1) ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการและรองรับการพัฒนาประเทศ 2) หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 3) ระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา 4) ระบบตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษา 5) ระบบสื่อสารและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 6) พัฒนาระบบการผลิต การสรรหาและการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 7) ระบบการบริหารจัดการ 8) สร้างโอกาสทางการศึกษา 9) พัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10) การวิจัยเพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ)
นอกจากนี้ ได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนงาน 6 ด้านไปพร้อมกัน คือ 1) ด้านหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2) ด้านการผลิตและพัฒนาครู 3) ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและงานวิจัย 4) ด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 5) ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา 6) ด้านการบริหารจัดการ
แต่เนื่องจากเล็งเห็นว่าการบริหารจัดการภายในกระทรวงศึกษาธิการ ยังมีปัญหาในหลายส่วน จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปตามกลยุทธ์ “ด้านการบริหารจัดการ” ก่อนเป็นลำดับแรก มิเช่นนั้นจะดำเนินการกลยุทธ์อื่นไม่ได้ โดยต้องดำเนินการใน 4 เรื่องหลักอย่างเร่งด่วน คือ
• ปฏิรูปการบริหารงานบุคคล
1) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายของครูและผู้บริหาร โดยมีแนวทางและผลการดำเนินงาน ดังนี้
การแก้ไขปัญหาครูขาดและครูเกิน โดยขณะนี้มีจำนวนครูเกินลดลงเหลือ 6,700 คน และจำนวนครูขาดลดน้อยลงเช่นกัน พร้อมทั้งมีความพยายามที่จะเกลี่ยครูในโรงเรียนที่มีครูเกินไปอยู่โรงเรียนที่ขาดแคลนครู โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้วย ในส่วนของการทำงานร่วมกันนั้น
กระทรวงศึกษาธิการจะได้หารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การบรรจุ โอน และย้ายครูระหว่างสังกัด เพื่อให้การเกลี่ยครูเป็นไปตามความต้องการของโรงเรียนอย่างแท้จริง
การกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้อำนวยการโรงเรียน แทนตำแหน่งเกษียณอายุราชการ โดยจะออกข้อสอบกลางสำหรับทดสอบทั้งในกลุ่มประสบการณ์และกลุ่มทั่วไป เมื่อได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จะเริ่มต้นจากโรงเรียนขนาดเล็กก่อน จากนั้นต้องทำสัญญารับการประเมินผลการทำงานรอบ 6 เดือนและ 1 ปี โดยประเมินจากการทำงานและแผนการพัฒนาโรงเรียน หากผ่านการประเมินก็เป็นผู้อำนวยการต่อไป แต่หากไม่ผ่านการประเมินต้องกลับไปอยู่ที่เดิมก่อนที่จะมา อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเปรียบเสมือนแม่ทัพ คือคนที่อยู่ด้านหน้าสุดในการรบกับการศึกษา เพราะอยู่กับครู ดังนั้นครูจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน
การปรับตารางการบรรจุและแต่งตั้ง ทั้งการบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วย การแต่งตั้งหรือการย้ายรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการโรงเรียน ให้แล้วเสร็จก่อน 1 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งทุกโรงเรียนต้องปรับตารางการทำงานให้เป็นไปตามนี้ด้วย
2) การผลิตและพัฒนาครู มีแนวทางและผลการดำเนินงาน ดังนี้
เทคนิคการสอนและทักษะการพูด กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการสื่อสารและถ่ายทอดที่ดีของผู้ที่เป็นครู เพราะคาดหวังว่าครูต้องมีทักษะการพูด วิเคราะห์ และถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดที่เข้าใจได้ง่ายได้ ขณะนี้มีความพยายามที่จะสื่อสารให้ครูได้รับรู้และเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดและเทคนิคที่ดี ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้และมีแนวปฏิบัติที่ดีเป็นตัวอย่างอยู่มากมาย เช่น การดึงความสนใจของนักเรียนในนาทีแรกที่เข้าสู่ห้องเรียน หรือจะหลอกเด็กให้เข้าใจในการเรียนรู้ได้อย่างไร เป็นต้น
ปรับหลักสูตรผลิตครู ของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งให้มีมาตรฐานเดียวกัน
สัดส่วนการผลิตครู ได้กำหนดสัดส่วนการผลิตครูให้สอดคล้องกับข้อมูลความต้องการและอัตราการเกษียณอายุราชการของครูในแต่ละปี คือ สัดส่วนการผลิต 25:40:35 ของอัตราเกษียณอายุราชการ ประกอบด้วยโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 25% เพื่อผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2559 เป็นปีแรก และมีผู้สมัครได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 4,079 อัตรา, การผลิตครูระบบปิด 40% โดยสถาบันผลิตครูส่งแผนงานการผลิตผู้เรียน รับจัดสรรโควตา และงบประมาณตามที่กำหนด, การผลิตครูระบบเปิดทั่วไป 35%
การตรวจเลือดครู (ประเมิน) ได้กำหนดแนวทางการจัดสอบครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ เพื่อเป็นการประเมินจุดด้อย ช่องว่างของครูแต่ละคนที่ควรได้รับการพัฒนา และจะให้การใช้จ่ายงบประมาณด้านการฝึกอบรมพัฒนาครูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การยกระดับครูภาษาอังกฤษ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาภาษาอังกฤษ อาทิ จัดทำแอพพลิเคชั่น Echo Hybrid, Echo English, การพัฒนาครูภาษาอังกฤษผ่านกระบวนการ Boot Camp เพื่อพัฒนาครูแกนนำที่มีทักษะ B2 ขึ้นไปจำนวน 350 คน ในการอบรมพัฒนาแบบเข้มเป็นเวลา 5 สัปดาห์กับครูต่างชาติ, การปรับโครงสร้างหลักสูตรและระยะเวลาในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ชั้น ป.1-3 จากเดิมสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เป็นสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง (วันละ 1 ชั่วโมง) พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น จัดทำป้ายบอกทางต่าง ๆ ภายในสถานศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น
การรักษาขวัญกำลังใจ “การที่คนผิดไม่ได้รับการลงโทษ ถือว่าเป็นการทำลายขวัญของคนดี” กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ติดตามและตรวจสอบปัญหาการทุจริตในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งการโยกย้าย ดุลยพินิจหรือการลงโทษที่ไม่ถูกต้อง การได้รับโทษจากการที่ไม่รู้ระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น
การจัดสรรงบประมาณ ที่ผ่านมามีการบริหารงบประมาณและการจัดสรรลงไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในรูปแบบ Top-Down กล่าวคือ ส่วนกลางจะคิดแผนงานโครงการพร้อมจัดสรรงบประมาณลงไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งมีหลากหลายโครงการ แต่หลายโครงการกลับไม่ตรงกับความต้องการ ดังนั้นจึงได้ปรับรูปแบบการจัดสรรงบประมาณแบบ Bottom-Up โดยให้ระดับพื้นที่เป็นผู้เสนอแผนงานโครงการขึ้นมา เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนา
ตามบริบทของตนเอง
การเกลี่ยเงินอุดหนุนรายหัว แต่เดิมเกณฑ์จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวใช้วิธีการหารยาว เพื่อกำหนดเงินอุดหนุนรายหัวในแต่ละช่วงชั้น เช่น เด็กอนุบาล ได้รับ 1,700 บาทต่อคน เด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้รับ 3,800 บาทต่อคน ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษที่มีนักเรียนจำนวนมากและมีความพร้อมอยู่แล้ว ได้รับงบประมาณจำนวนมากขึ้นไปอีก ทั้ง ๆ ที่เด็กในวัยอนุบาลเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ และรับรู้ทุกอย่างได้อย่างเต็มที่ แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลน้อยที่สุด ดังนั้น จึงเตรียมที่จะปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อจัดสรรให้กับเด็กอนุบาล-เด็กประถมในโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมได้มากขึ้น เช่น ในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีนักเรียน 2,000 คน จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัว 3,800 บาทต่อคนเช่นเดิม แต่เมื่อใดก็ตามที่มีโรงเรียนรับนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,001-3,000 คน คน จำนวนที่เกินมาอาจได้รับเงินอุดหนุนรายหัว 3,500 บาทต่อคน และคนที่ 3,001-4,000 อาจได้รับเหลือ 3,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ ได้เตรียมการที่จะแยกค่าจัดการเรียนการสอนออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้เงินลงไปถึงตัวเด็กอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และไม่ให้โรงเรียนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น พร้อมทั้งเตรียมที่จะแก้ปัญหาเงินอุดหนุนของเด็กพิเศษที่เข้ามาเรียนร่วมในโรงเรียนปกติให้มากขึ้น
ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ (Management Information System: MIS) โดยได้ดำเนินการบูรณาการฐานข้อมูลด้านการศึกษาของทุกหน่วยงานใน 4 ส่วนที่สำคัญ คือ ข้อมูลนักเรียน โดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกันภายใต้เลขประชาชน 13 หลัก, ข้อมูลสถานศึกษา, ข้อมูลครู และข้อมูลบุคลากรประเภทอื่น ที่จะต้องเชื่อมต่อถึงกัน เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมมีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่จัดการศึกษาอื่น ๆ ด้วยในอนาคต เช่น กทม. อปท. เป็นต้น นอกจากนี้จะผลักดันให้มีแผนแม่บทการใช้ ICT เพื่อการศึกษาต่อไปด้วย
การจัดทำเครือข่าย (Networks) ด้านการศึกษา แบ่งเป็น 2 โครงข่ายหลัก คือ โครงการ MOENet และ NEdNet เพื่อให้บริการแก่สถานศึกษาทั่วประเทศ, เครือข่ายเพื่อการศึกษาวิจัย (UniNet) เป็นเครือข่ายแกนหลักของเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ โดยตั้งเป้าที่จะจัดให้มีระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Hi-speed) เข้าไปถึงโรงเรียนอย่างน้อย 50 เมกกะไบต์
เนื้อหา (Contents) โดยกระทรวงศึกษาธิการจะบูรณาการองค์ความรู้ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและเป็นแหล่งเรียนรู้ของของหน่วยงานในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV), ระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance Learning Information Technology : DLIT), ระบบการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน (TEPE Online), สถานีวิทยุโทรทัศน์ ETV, R-radio ของอาชีวะ, มหาวิทยาลัยไซเบอร์ รวมทั้งองค์ความรู้จากภาพเอกชน อาทิ เซ็นทรัลกรุ๊ป, ทรู คอร์ปอเรชั่น, B2S ในรูปแบบของ e–Book, หนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อจัดทำเป็นคลังความรู้กลางให้บริการนักเรียน ครู และประชาชนที่สนใจ ในการศึกษาหาความรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
สะเต็มศึกษา (STEM Education) ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่กำลังดำเนินการในเรื่องนี้ อาทิ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และเพื่อให้การเรียนการสอนสะเต็มศึกษาสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงได้มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ
สป 37/2559 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม 3 คณะ เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอำนวยการการจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร และขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้มีผลการดำเนินงานในการจัดทำคู่มือกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับครูของภาคเรียนที่ 1 (ชั้น ป.1 – ม.6) ในการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับนักเรียน เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.stemedthailand.org ด้วย
พัฒนาระบบสอบ O-NET ให้เป็นที่ยอมรับ โดยต้องการที่จะปรับระบบการสอบ O-NET ที่เน้นการออกข้อสอบให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน, มีการจัดทำ Item Card และ Test Blue Print, ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือกคนออกข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบ, ให้มีการเฉลยข้อสอบและวิเคราะห์ผลสอบ O-NET เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนมีการบูรณาการเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนกับหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อทำให้ระบบการสอบ O-NET เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาที่แท้จริง และเมื่อดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินครู ผู้บริหารโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่อไป
เครือข่ายอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ได้ร่วมมือกับ สกอ. เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศลงไปช่วยพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แบ่งเป็น 9 เครือข่าย ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง
ขับเคลื่อนการยกระดับภาษาอังกฤษ เตรียมที่จะนำการทดสอบภาษาอังกฤษมาใช้ในการสอบเข้าและสอบจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี พร้อมกับได้วางแผนสร้างมาตรฐานความสามารถด้านภาษาอังกฤษของผู้เรียน โดยอิงมาตรฐานสากล CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) หรือ “CEFR Thailand” เพื่อใช้ในการทดสอบระดับภาษาอังกฤษให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ รวมทั้งใช้เป็นมาตรฐานการสอนภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษา แต่จะไม่บังคับใช้ในหลักสูตรนานาชาติที่จัดอยู่แล้ว ทั้งนี้ในอนาคตอาจใช้เป็นมาตรฐานในการสอบเข้ารับราชการด้วย
พัฒนาทักษะผู้เรียน โดยจะส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษามีคุณสมบัติหรือทักษะที่สำคัญ คือ
– 3R ได้แก่ Reading-อ่านออก, (W)Riting-เขียนได้, (A)Rithmatic-มีทักษะในการคำนวณ)
– 8C ได้แก่
1) Critical Thinking and Problem Solving : มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแก้ไขปัญหาได้
2) Creativity and Innovation : คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดเชิงนวัตกรรม
3) Collaboration Teamwork and Leadership : ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ
4) Communication Information and Media Literacy : ทักษะในการสื่อสาร และการรู้เท่าทันสื่อ
5) Cross-cultural Understanding : ความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม กระบวนการคิดข้ามวัฒนธรรม
6) Computing and ICT Literacy : ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และการรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งเยาวชนในยุคปัจจุบันมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอย่างมากหรือเป็น Native Digital ส่วนคนรุ่นเก่าหรือผู้สูงอายุเปรียบเสมือนเป็น Immigrant Digital แต่เราต้องไม่อายที่จะเรียนรู้แม้ว่าจะสูงอายุแล้วก็ตาม
7) Career and Learning Skills : ทักษะทางอาชีพ และการเรียนรู้
8) Compassion : มีคุณธรรม มีเมตตา กรุณา มีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นคุณลักษณะพื้นฐานสำคัญของทักษะขั้นต้นทั้งหมด และเป็นคุณลักษณะที่เด็กไทยจำเป็นต้องมี
โครงการสานพลังประชารัฐ แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
1) ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาโดยตรง ในขณะนี้มีภารกิจเร่งด่วน (Quick Win) 4 เรื่อง คือ Re-branding เพื่อจูงใจให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเห็นความสำคัญของการเรียนอาชีวศึกษาและสนใจเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น, Excellent Model School กำหนดความหมายและขอบเขตของสถานศึกษาต้นแบบที่ดีด้านอาชีวศึกษา, Database (Demand and Supply) จัดทำฐานข้อมูลความต้องการกำลังคนและปริมาณการผลิตกำลังคน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม, Standard and Certification Center การสร้างมาตรฐานวิชาชีพอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับ และนำไปใช้อย่างทั่วถึง ตลอดจนเป็นบรรทัดฐานในการจ่ายค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับความสามารถของแรงงาน
2) ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งได้ดำเนินโครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน CONNEXT ED (Leadership Program for Sustainable Education) เพื่อพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่จำนวน 1,000 คน จาก 12 องค์กรภาคเอกชน ทำหน้าที่เป็น School Partners ดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาในสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยมีหลักการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1) สนับสนุนการดำเนินงานของผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ (Enable) 2) ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน (Enhance) 3) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน (Engage) นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็น School Sponsor โดยผู้บริหารระดับสูงจะให้ข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ จำนวน 3,342 แห่ง และจะขยายผลโครงการไปยัง 7,424 โรงเรียนทุกตำบลทั่วประเทศ ภายในปี 2561
ทวิวุฒิ (Dual Degree) ที่จะเป็นการจับคู่สถาบันอาชีวศึกษาไทยกับสถาบันอาชีวศึกษาต่างประเทศ เช่น จับคู่กับสาธารณรัฐเกาหลี ในสาขาที่สาธารณรัฐเกาหลีมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เทคโนโลยีความงาม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และเมื่อนักศึกษาสำเร็จหลักสูตรจะได้รับทวิวุฒิ คือวุฒิการศึกษา 2 ใบจากทั้งสองประเทศ
การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต กระทรวงศึกษาธิการยึดถือแนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกช่วงวัยทุกรูปแบบ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ที่จัดโดยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอบคุณผู้บริหาร ข้าราชการ และครู กทม.ทุกคน ที่ได้เปิดโอกาสให้มาสื่อสารถึงนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ โดยเจตนารมณ์เราคือ “พวกเดียวกัน” จึงจำเป็นที่จะต้องรับรู้และเดินหน้าไปด้วยกัน
หลังจากนี้ จะได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนสังกัด อปท.ทั่วประเทศ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาร่วมกันต่อไป
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
29/10/2559