สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
-
รับทราบรายงานความก้าวหน้า “การจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ ของพนักงานมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าจากการที่ รมว.ศธ.(นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ได้มอบนโยบายในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 ที่ จ.ปัตตานี ว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ดูแลบุคลากรในเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ กรอบอัตรากำลังเพิ่มใหม่สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
ล่าสุด สกอ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานว่า ขณะนี้ สกอ.กำลังวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำร่างข้อเสนอฯ ดังกล่าวของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้ ก.พ.อ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวถึงข้อมูลสรุปจำนวนบุคลากรทั้ง 3 มหาวิทยาลัยดังกล่าว สกอ.ได้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
1) พนักงานมหาวิทยาลัย ที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน มีจำนวนรวม 882 คน และมีกรอบอัตราว่าง 137 คน
2) พนักงานมหาวิทยาลัย ที่ใช้เงินรายได้ของแต่ละมหาวิทยาลัย มีจำนวนรวม 44 คน และมีกรอบอัตราว่าง 12 คน
3) ลูกจ้างชั่วคราว ที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน มีจำนวนรวม 6 คน และมีกรอบอัตราว่าง 12 คน
4) ลูกจ้างชั่วคราว ที่ใช้เงินรายได้ของแต่ละมหาวิทยาลัย มีจำนวนรวม 417 คน ไม่มีกรอบอัตราว่าง
ทั้งนี้ การดำเนินการปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ เพื่อที่ดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในระบบ และชดเชยความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความจำเป็นตามภาระงาน
โดยจะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ในสายวิชาการจากเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ จาก 1.7 เท่า เป็น 2 เท่า และสายสนับสนุนจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 1.8 เท่า คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
รับทราบรายงานผล “การดำเนินงานโครงการทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2547-2556”
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งได้สิ้นสุดการดำเนินงานแล้ว พบว่ามีผู้ได้รับทุนตลอดโครงการจำนวน 3,000 ทุน ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,347 ล้านบาท ซึ่ง อ.ก.พ.อ.วิจัย มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุด (The Best) ของการส่งเสริมและพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว มีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติมากถึง 2,661 เรื่อง มีผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตร 30 ผลงาน และผลงานวิจัยเฉพาะ 66 เรื่อง วารสารระดับชาติ 55 เรื่อง และผู้รับทุนนำผลงานวิจัยไปใช้เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการได้ด้วย ส่งผลให้ผู้รับทุน ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ ยังคงมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง
สรุป/รายงาน
1/5/2557