“คนเห็นป้ายที่ผมแขวน ก็จะเดินตรงเข้ามาถามทันที ที่ผมเลือกทำหน้าที่นี้เพราะพื้นที่สนามหลวงนี้เราคุ้นเคยดี จึงอยากนำความถนัดที่มีมาใช้เพื่อช่วยผู้อื่น และยืนยันว่าถ้าว่างเมื่อไหร่ก็จะมาอีกเรื่อย ๆ แน่นอน”
อังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2559 เวลา 06.00 น.
อาจเกิดความสับสน…หรืออาจเกิดหลงทาง
จึงเกิดกลุ่ม ’จิตอาสาประชาสัมพันธ์“ ขึ้นมา
เพื่อจะคอยช่วยเหลือ-เพื่อทำหน้าที่ดูแลส่วนนี้
’พอเห็นป้าย คนที่เห็นก็จะรีบมาถามทันทีเลยครับ ซึ่งแบบนี้ช่วยได้เยอะ อย่างน้อยก็ทำให้คนกล้าที่จะเข้ามาถามข้อมูลมากขึ้น“ …เป็นการระบุจาก สุนัย หนึ่งในจิตอาสาประชาสัมพันธ์ ถึงที่มาของ “ป้ายคล้องคอ” ซึ่งนอกจากจะมีข้อความ “อาสาประชาสัมพันธ์” แล้ว ก็ยังมีข้อความเช่น ’ถามมา-ตอบได้“…ซึ่งในแต่ละวันมีประชาชนเกิดหลงทางในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการรวมตัวของเหล่าจิตอาสาเพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ประชาชน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ป้ายคล้องคอ
ที่มีตัวหนังสือขนาดใหญ่ ๆ ที่มองเห็นง่าย ๆ
อย่าง…อาสาประชาสัมพันธ์, ถามมา-ตอบได้
สุนัย จิตอาสาคนเดิม บอกว่า…กิจกรรมรูปแบบนี้ เกิดขึ้นเพื่อคอยให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาจไม่ทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง รวมถึงให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง การรับบัตรคิวเพื่อเข้าไปถวายสักการะ ด้วย ซึ่งจากจุดเด่นของป้ายที่อาสาสมัครนำมาคล้องคอนี้ ช่วยให้ประชาชนมองเห็นได้ง่าย และกล้าเข้ามาขอข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ โดย สุนัย บอกว่า…สิ่งที่ทำนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ๆ…
เมื่อคิดถึง “สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อคนไทย”
’คนเห็นป้ายที่ผมแขวน ก็จะเดินตรงเข้ามาถามทันที ที่ผมเลือกทำหน้าที่นี้เพราะพื้นที่สนามหลวงนี้เราคุ้นเคยดี จึงอยากนำความถนัดที่มีมาใช้เพื่อช่วยผู้อื่น และยืนยันว่าถ้าว่างเมื่อไหร่ก็จะมาอีกเรื่อย ๆ แน่นอน“…สุนัย กล่าว
ขณะที่ เอ็น-ณัฐชุณิณ นักศึกษาวิชาทหาร (รด.) นักเรียนจากโรงเรียนสวนกุหลาบ หนึ่งในประชาสัมพันธ์จิตอาสา เล่าให้ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ฟังว่า…กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทางศูนย์รักษาดินแดน หรือศูนย์ รด. ให้นักศึกษาวิชาทหารได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ โดยก่อนหน้าที่จะทำหน้าที่ ก่อนออกปฏิบัติงาน ทุกคนจะได้รับการอบรมเป็นคอร์สสั้น ๆ เสียก่อน ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่สนามหลวงและละแวกใกล้เคียง รวมถึงข้อมูลเส้นทางการเดินทางไปยังจุดสำคัญต่าง ๆ
นอกจากนั้น ยังได้รับมอบหมายอีกหน้าที่หนึ่งคือ…
ให้ทำหน้าที่ช่วยรวบรวมข้อมูลในด้านต่าง ๆ
’เพราะในแต่ละวัน ในพื้นที่จะมีกิจกรรมของจิตอาสารูปแบบต่าง ๆ เข้ามาตลอด ทำให้ต้องคอยเก็บรวบรวมข้อมูลด้านนี้ เช่น ตรงไหนยังขาดแคลนจุดให้บริการน้ำ ตรงไหนมีจุดให้บริการน้ำเยอะเกินไปแล้ว ก็อาจจะใช้ข้อมูลในส่วนนี้เพื่อนำไปบริหารจัดการ“…เป็นคำบอกเล่าและข้อมูลการทำหน้าที่โดยสังเขป จาก “จิตอาสาประชาสัมพันธ์” รายนี้
เอ็น-ณัฐชุณิณ อธิบายถึงรูปแบบการปฏิบัติงานอีกว่า… เมื่อลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้จะให้คู่มือข้อมูลมาคนละ 1 ชุด ซึ่งในคู่มือจะมีข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับด้านต่าง ๆ จากนั้นแต่ละคนก็จะกระจายกำลังกันไปประจำในจุดต่าง ๆ โดยข้อมูลส่วนใหญ่ที่คนมักจะเข้ามาถาม ได้แก่…เรื่องเส้นทางการเดินทาง และการเข้าออกในจุดต่าง ๆ ทั้งนี้ เอ็นบอกว่า…เวลาปกติ ถ้าไม่ได้มาทำกิจกรรมแบบนี้ จะมีแต่เรื่องการเรียน แต่พอมีกิจกรรมนี้ จึงทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวอื่น ๆ นอกห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น…
’ผมตั้งใจจะมาเป็นจิตอาสาสนามหลวงอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีโอกาส พอมีกิจกรรมนี้ก็รีบมาสมัครทันที เท่าที่คุยกัน เพื่อน ๆ อยากจะมากันทั้งนั้นเลย ตอนที่คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าผมมาทำงานตรงนี้ ท่านดีใจมากที่ลูกมาทำความดี ซึ่งท่านก็วางแผนไว้ว่าจะพาลูก ๆ เข้าถวายสักการะพระบรมศพอยู่แล้วเช่นกัน“…เด็กหนุ่มบอก พร้อมระบุด้วยว่า…การทำงานจิตอาสาตรงนี้ ไม่มีเวลาเลิกที่แน่นอน โดยใครอยากจะทำถึงเวลาไหนก็ได้ แต่ทุกหนึ่งชั่วโมงจะต้องกลับไปรายงานที่ศูนย์ เพราะจะมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคำถามต่าง ๆ เพื่อนำไปอัพเดทข้อมูลที่จะใช้บริการประชาชนให้สอดคล้องมากที่สุด…
ส่วน โจบ-ตติยะ จิตอาสาอีกราย กล่าวว่า…คำถามส่วนใหญ่ช่วงแรกจะเป็นเรื่องของจุดรับบัตรคิว สายรถเมล์ จุดบริการห้องน้ำ และจุดปฐมพยาบาล เป็นต้น ซึ่งสามารถศึกษาได้จากคู่มือที่ได้รับแจก แต่บางเรื่องก็มีคำถามที่นอกเหนือจากข้อมูลที่มีในคู่มือ เช่น บางคนถามหาที่ชาร์จแบตเตอรี่ก็มี โดยจิตอาสารายนี้ระบุว่า…’จะดีใจมาก ที่มีคนมาถามแล้วตอบได้ หากตอบไม่ได้ ก็มีเขินมีอายเหมือนกันนะ ซึ่งถ้าไม่รู้จริง ๆ จะขอโทษ และแนะนำให้สอบถามที่กองอำนวยการแทน“
ขณะที่ ธีร์ จากโรงเรียนเดียวกัน แจกแจงว่า…ได้รับมอบให้ทำภารกิจนี้พร้อมเพื่อนอีก 3 คน โดยก่อนออกทำงานจะได้รับการอบรมข้อมูล เช่น เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ เส้นทางเดินรถ ระเบียบการเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ซึ่งหลายเรื่องนั้นสามารถตอบได้ แต่บางเรื่องที่ตอบไม่ได้ก็มี ทำให้ต้องหมั่นอัพเดทข้อมูล เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางมายังท้องสนามหลวงได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์ เพื่อป้องกันความสับสน และเพื่อให้เป็นจิตอาสา เป็น “อาสาประชาสัมพันธ์” แบบที่…
“ถามมา-ตอบได้”
ที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/536310