ศึกษาธิการ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม
หารือกับเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิส
เมื่อเวลา 14.00 น. นางคริสทินเน่อ ชราเน่อ บูรเกเนอร์ (Mrs. Christine Schraner Burgener) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ รมว.ศธ.ในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา
รมว.ศธ.กล่าวชื่นชมต่อความสำเร็จของการจัดการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ และต้องการให้มีความร่วมมือในการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาของไทย ทั้งด้านการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การฝึกอบรม การกำหนดคุณลักษณะ และสมรรถนะของผู้จบการศึกษา รวมถึงการออกแบบการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน เนื่องจากปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของไทยประสบปัญหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ผู้เรียนไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเน้นการสอนไวยากรณ์และคำศัพท์มากเกินไป และไม่มีการเรียนวิชาสนทนาในชั้นเรียน อีกทั้งจำนวนนักเรียนต่อชั้นที่มากเกินไป ทำให้ครูไม่สามารถสอนได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ว่านักเรียนนักศึกษาของไทยมีความสนใจที่จะศึกษาต่อทางด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวในสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างมาก และทราบว่าสวิตเซอร์แลนด์มีชื่อเสียงในการจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี ที่มีมาตรฐานสูงและเป็นที่ยอมรับ จึงต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวจากทางสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อใช้ในการแนะนำข้อมูลให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกเหนือจากการศึกษาต่อในด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ รมว.ศธ.กล่าวเห็นด้วยต่อข้อเสนอของเอกอัครราชทูตฯ ที่เสนอให้มีการส่งผู้แทนไปศึกษาระบบการจัดการศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ และจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
หารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน
เมื่อเวลา 15.30 น. นายหนิง ฟู่ขุย (Mr. Ning Fukui) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ รมว.ศธ.
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ มีความเห็นว่าควรจะให้มีการศึกษาบันทึกความเข้าใจต่างๆ ที่ได้ลงนามไปแล้ว ให้มีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น หาก ศธ.มีแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ทางสถานทูตฯ ยินดีที่จะส่งต่อข้อมูลไปที่จีนเพื่อดำเนินการต่อไป และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับอาชีวศึกษามากขึ้น เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาให้ดีขึ้น
รมว.ศธ.กล่าวถึงความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศที่มีหลายระดับ ทั้งระดับอุดมศึกษาและการอาชีวศึกษา ขณะนี้ ความร่วมมือด้านการศึกษาที่เป็นที่รับรู้มากที่สุดคือการสอนภาษาจีน ซึ่งประเทศไทยต้องการความร่วมมือในการใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่จีนมีประสบการณ์ เพื่อช่วยวางแผนและออกแบบการเรียนการสอน ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้สนใจเรียนภาษาจีนเป็นจำนวนมากแต่คุณภาพยังไม่ดีพอ จึงต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพและความสามารถในการใช้ภาษาของผู้เรียนให้มากขึ้น โดยการปรับวิธีคิดและแนวทางในการสอน สิ่งสำคัญที่ ศธ.จะต้องดำเนินการในขั้นต่อไปคือการรวบรวมข้อมูลและทำให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
ในการนี้ รมว.ศธ.ได้ขอความร่วมมือจากจีนในการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาจีนและการจัดการอาชีวศึกษา และเสนอให้มีการตั้งวิทยาลัยของไทยเป็นวิทยาลัยความร่วมมือไทย-จีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศ
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
17/10/2556