ศึกษาธิการ – ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ และรอง
รมว.ศธ.กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศ (Centre of Excellence, CoE) เป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทาง ที่มีลักษณะทางด้านกายภาพ ซึ่งดำเนินงานโดยการระดมสรรพกำลัง และทรัพยากรที่มีอยู่ หรือที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ เพื่อสนับสนุนให้มีการปฏิบัติวิจัยโดยนักวิจัยในช่วงเวลาที่ยาวนานต่อเนื่อง และเป็นการดำเนินงานในรูปแบบข้ามสาขาวิชา (Cross Desciplinary) สหสาขาวิชา (Multidisciplinary) และศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นใหม่ (Emerging Disciplinary) ร่วมกับภาคีสถาบันในเครือข่าย (Consortium) ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และสามารถแข่งขันได้ในเวทีระหว่างประเทศ
ปัจจุบันมีศูนย์ความเป็นเลิศจำนวน 11 ศูนย์ ได้แก่
1) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี
2) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา
3) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย
4) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
5) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม
6) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
7) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
8) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์
9) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์
10) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
11) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์
นอกจากนี้ สบว.ได้รายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ 3 พร้อมทั้งได้นำเสนอแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพิ่มเติมอีก 6 ศูนย์ ได้แก่ 1) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านพิบัติภัย 2) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/สภาวะโลกร้อน 3) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 4) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร/ความปลอดภัยของอาหาร 5) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ 6) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมการผลิต
จากการหารือ เห็นพ้องกันว่าควรมีการประเมินสถานะการดำเนินงาน เช่น ผลผลิตที่ผ่านมา ทั้งในด้านจำนวน คุณภาพ สัมฤทธิ์ผล การใช้ประโยชน์จากผลการวิจัย และการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย รวมทั้งมีการประเมินศักยภาพของศูนย์ความเป็นเลิศ 11 ศูนย์ว่าควรวิจัยสาขาใดเพิ่มเติม โดยจะต้องมีการรวบรวมความต้องการของภาคเอกชนและภาคการผลิตด้วย ส่วนการตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ได้เสนอให้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในนิตยสารและวารสารที่มีมาตรฐานสูงในระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขและตัวชี้วัดหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้ในการประเมินขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ นั่นก็คือความสามารถในการแข่งขันด้านการวิจัย
แนวทางดำเนินการที่สำคัญ คือ นอกจากจะต้องหาวิธีจูงใจและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและมีการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติและระดับโลกเพิ่มขึ้นโดยไม่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำนวนน้อย ต้องเร่งประเมินศักยภาพและความต้องการของประเทศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำมาวางหลักเกณฑ์และกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศในอนาคตร่วมกันว่า จะเพิ่มศูนย์ในสาขาใดอย่างไร ใช้งบประมาณจำนวนเท่าใด ซึ่งปัจจุบันงบประมาณด้านการวิจัยเมื่อเทียบกับความต้องการของประเทศมีน้อยมาก
จากนั้นก็จะจัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้คำตอบทิศทางการวิจัยและพัฒนารวมทั้งการเผยแพร่ผลงานวิจัยของประเทศ ที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณา แลกเปลี่ยน และศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี เพื่อนำเสนอต่อ วช. และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยและการพัฒนาของประเทศโดยอาศัยศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 ศูนย์ได้เป็นอย่างดี
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
14/10/2556