● เห็นชอบการกำหนดเครื่องแบบผู้อำนวยการ
ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน
ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ
(ร่าง) ระเบียบว่าด้วยการกำหนดเครื่องแบบผู้อำนวยการ ครู
และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชน เพื่อเป็นการยกย่อง
เชิดชูวิชาชีพครูโรงเรียนเอกชน
ซึ่งมีสาระสำคัญคือ กำหนดชนิดของเครื่องแบบ
แบ่งเป็น เครื่องแบบปฏิบัติการ
สำหรับการปฏิบัติงานหรือเข้าร่วมพิธีกับหน่วยงานราชการอื่น
และเครื่องแบบพิธีการ
สำหรับเข้าร่วมพิธีตามหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังและพิธีที่ส่วนราชการอื่นกำหนด
รวมทั้งกำหนดการแต่งกายในวันปฏิบัติงาน โดยให้แต่งกายใช้แบบและสีที่สุภาพ
เรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ
●
รับทราบโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาด้านอาชีพในโรงเรียนเอกชน
จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ
และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนการศึกษาระดับภาค
เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
และพบว่าผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเอกชนในระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา
เพราะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงรองจากโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย
แต่ในระดับมัธยมศึกษาจะต่างกันคือนักเรียนที่เก่งจะเปลี่ยนไปเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐ
ดังนั้น
โรงเรียนเอกชนจึงต้องปรับตัวจากที่สอนวิชาการเป็นหลัก มาสอนวิชาชีพ
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
และแนวทางการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่
โดยลักษณะการสอนจะเป็นแบบบูรณาการระหว่างโรงเรียนเอกชนระดับมัธยม
และโรงเรียนนอกระบบมาร่วมกันจัดการเรียนการสอนวิชาชีพ เช่น
การโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจการบิน พาณิชย์นาวี
คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

●
รับทราบการถ่ายโอนภารกิจโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชน
จากการประชุม
กช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560
ได้เสนอแนวทางการอุดหนุนโครงการอาหารกลางวัน
สำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชน
โดยเห็นชอบในหลักการขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน
ระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาทุกคน ตั้งแต่ปีงบประมาณ
พ.ศ.2562 เป็นต้นไป
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
ได้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้านการถ่ายโอนภารกิจ
ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กระทรวงศึกษาธิการเสนอคณะรัฐมนตรี
พิจารณาแนวทางการอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชน
โดยไม่ต้องดำเนินการถ่ายโอนภารกิจโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน
จากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เนื่องจากเห็นว่าหากมีการถ่ายโอนภารกิจโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น
อาจทำให้สัดส่วนงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นลดลง
● การหารือกรณีการเบิกเงินอุดหนุนซ้ำซ้อนในโรงเรียนเอกชนจังหวัดกาญจนบุรี
ที่ประชุมได้รับทราบ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)
กาญจนบุรีดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
กรณีโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีมีพฤติกรรมทุจริตด้วยการนำรายชื่อนักเรียนที่ไม่มีตัวตนมาเบิกเงินอุดหนุน
โดยขณะนี้ ศธจ.กาญจนบุรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
และได้มีหนังสือไปถึงโรงเรียนเอกชนดังกล่าว
เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบจำนวนนักเรียน เอกสารทะเบียนราษฎร์
และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขเอกสารสูติบัตร
ส่วนเด็กซ้ำซ้อนหลักฐานที่มีอยู่นั้นค่อนข้างชัดเจน ซึ่ง ศธจ.กาญจนบุรีกำลังเร่งตรวจสอบเพื่อรายงานให้
สช.ทราบต่อไป
นอกจากนี้
ยังได้ขยายผลการตรวจสอบไปยังโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรีด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า
กรณีมีการทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชนใน
จ.กาญจนบุรี หรือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีมานานกว่า 10
ปีแล้ว แต่สาเหตุที่พบเจอในครั้งนี้เพราะมีผู้แจ้งเบาะแสให้ตรวจสอบ
ซึ่งการทุจริตเงินอุดหนุนมีทั้งในรูปแบบที่เด็กเรียนอยู่ในโรงเรียนของ
สพฐ. แต่ยังมีชื่อเบิกเงินอุดหนุนในโรงเรียนเอกชน
หรือบางกรณีก็มีการสร้างชื่อและนำเลขประจำตัวประชาชนของเด็กอายุ 8
เดือนมาใช้ด้วย
ซึ่งหากจะต้องมีการตรวจสอบทั้งอายุและเลขประจำตัวประชาชนของเด็กด้วย
คงต้องใช้เวลา ในขณะนี้ที่เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนจำกัด

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบให้คณะทำงาน
โดยนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน
ไปศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนักเรียนโรงเรียนเอกชน
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้
รัฐจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม
ซึ่งปัจจุบันนักเรียนโรงเรียนรัฐได้รับเงินรายหัวมากกว่านักเรียนโรงเรียนเอกชน
ในขณะที่ผลการทดสอบโอเน็ตของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสูงกว่าทุกรายวิชา
ถือเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก จึงให้คณะทำงานไปศึกษาในเรื่องนี้
และเป็นเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ศึกษาข้อมูลไว้แล้วเมื่อ
10 ปีที่ผ่านมา
Written
อิชยา กัปปา,
นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit ธนภัทร
จันทร์ห้างหว้า, อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter
นวรัตน์ รามสูต
Editor
บัลลังก์ โรหิตเสถียร